กษัตริย์ภูมิพลและราชินีสิริกิติ์ ให้คณะรัฐประหารเข้าเฝ้าในคืนวันรัฐประหาร กันยายน 2549 (ภาพ: Voice TV)

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านมา 15 ปีแล้ว ทุกวันนี้สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันว่านี่คือจุดเปลี่ยนที่นำพาประเทศมาสู่วังวนเผด็จการ พาประเทศถอยหลังลงคลองมาจนถึงปัจจุบัน

DRG ขอรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมย้ำถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่มีส่วนสำคัญอยู่เบื้องหลัง เปรียบเสมือน “มือที่มองไม่เห็น” ที่ช่วยผลักดันให้การรัฐประหารครั้งนั้นประสบความสำเร็จในที่สุด

25 เมษายน 2549 กษัตริย์ภูมิพลได้ให้โอวาทแก่คณะตุลาการศาลปกครอง (นำโดยประธานศาลปกครองสูงสุด) และคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรม (นำโดยประธานศาลฎีกา) มีข้อความบางช่วงบางตอนที่วิจารณ์การเลือกตั้งในปีนั้น (เกิดขึ้นหลังรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา) ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และบางถ้อยคำมีลักษณะชี้ชวนให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจเพื่อ “กู้ชาติ” และ “ทำให้บ้านเมืองดำเนินได้”

“…มีอีกหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะ ที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง. ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่า เกี่ยวข้องอย่างไร ท่านเกี่ยวข้องหรือไม่… ท่านผู้ที่เป็นผู้ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้. หรือมิฉะนั้นก็ต้องไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาที่จะเข้ามาต่อมา. ท่านผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านผู้นี้ก็คงเกี่ยวข้องเหมือนกัน. ก็ปรึกษากัน 4 คน ก็ท่านปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่าน ก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความและ มีหน้าที่ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป.” (กล่าวต่อประธานศาลปกครองสูงสุด)

“ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านได้ไปพิจารณาดู กลับไปพิจารณา ไปปรึกษากับผู้พิพากษาศาลอะไรอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ว่าควรจะทำอะไร ต้องรีบทำ ไม่อย่างงั้นบ้านเมืองจะต้องล่มจม… เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่วิกฤตที่สุด ที่สุดในโลก. ฉะนั้นท่านก็มีหน้าที่ ที่จะปฏิบัติ ปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ เพื่อที่จะเขาเรียกว่ากู้ชาตินั้นแหละ… ฉะนั้นก็ไปพิจารณา ดูดีๆ ว่าควรจะทำอะไร ถ้าทำได้ ปรึกษาหารือกันได้จริงๆ ประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนทั่วโลกจะอนุโมทนา. อาจจะเห็นว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาในเมืองไทยยังมี เรียกว่ายังมีน้ำยา และเป็นคนที่มีความรู้ และตั้งใจที่จะกู้ชาติจริงๆ ถ้าถึงเวลา.” (กล่าวต่อประธานศาลฎีกา)

โอวาทดังกล่าว ต่อมาถูกนำมาขยายผลให้เป็นจุดเริ่มต้นของ “ตุลาการภิวัตน์” เปิดให้ศาลต่างๆ เข้ามามีส่วนสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งรวมถึงการยุบพรรคการเมืองสำคัญของฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายพรรคนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา

ในหนังสือ “ปรากฏการณ์สนธิ จากเสื้อสีเหลืองถึงผ้าพันคอสีฟ้า” ของคำนูน สิทธิสมาน บอกเล่าเหตุการณ์หนึ่งในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่นานก่อนเกิดรัฐประหารว่า เมื่อเย็นวันที่ 4 กันยายน 2549 สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้รับการประสานจาก “สุภาพสตรีสูงศักดิ์ท่านหนึ่ง” ซึ่งต่อมาเจ้าตัวเฉลยว่าคือ ท่านผู้หญิง ม.ร.ว.บุษบา สธนพงศ์ (นามสกุลเดิม กิติยากร) น้องสาวของราชินีสิริกิติ์ ให้ไปพบ และได้รับแจ้งว่า “ผู้ใหญ่ที่เคารพ” ขอให้กำลังใจ ขอขอบใจที่ได้ปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

จากนั้นในวันต่อมา 5 กันยายน แกนนำพันธมิตรฯ ทั้งหลายแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยปรากฏว่าสวมผ้าพันคอสีฟ้า มีข้อความว่า “902 12 สิงหาคม 2549 แม่ของแผ่นดิน” แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะราชินีสิริกิติ์ ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องการรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง

คืนวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังการประกาศรัฐประหารไม่กี่ชั่วโมง มีการแพร่ภาพการนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้ากษัตริย์ภูมิพลและราชินีสิริกิติ์ ถือเป็นการรับรองคณะรัฐประหารอย่างไม่เป็นทางการ โดยจากโทรเลขวิกิลีกส์ที่หลุดออกมา สุเทพ เทือกสุบรรณ เล่าว่าในตอนแรกกษัตริย์ภูมิพลไม่ยอมที่จะพบกับคณะรัฐประหาร แต่ในที่สุดก็ยอมตามต่อการร้องขอของราชินีสิริกิติ์ โดยให้เผยแพร่ภาพขณะที่ตนหันข้างให้กับกล้อง ในขณะที่ราชินีสิริกิติ์หันหน้าหากล้อง เพื่อส่งสัญญาณถึงบทบาทของราชินีในการรัฐประหาร

และท้ายสุด เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 หลังการรัฐประหารเพียง 1 วัน กษัตริย์ภูมิพลก็มีประกาศราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้นำการรัฐประหาร เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ก็ได้ลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 ฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหาร เป็นกฎหมายสูงสุดที่วางรากฐานระบอบที่พวกเราต้องทนอยู่กันในปัจจุบัน

พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ 20 กันยายน 2549

ดังนั้นแล้วจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถาบันกษัตริย์ ทั้งรัชกาลก่อนมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน มีส่วนสำคัญต่อการรัฐประหารในประเทศไทยตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9490000054995
https://www.the101.world/rereading-thirayuth-boonmee/
https://prachatai.com/journal/2014/10/55920
https://prachatai.com/journal/2008/08/17688
https://www.facebook.com/sameskybook/posts/3087471934635178/
https://www.facebook.com/somsakjeam/posts/1395977370455538
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/A/095/1.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/A/102/1.PDF