จำเลยคดีม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ 6 คน (ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2565) ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้อง 6 นักกิจกรรม ซึ่งรวมถึงชลธิชา แจ้งเร็ว (ลูกเกด), ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์) และธัชพงศ์ แกดำ (บอย) ไม่มีความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่รู้จักในชื่อ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” การชุมนุมเดียวกันกับที่อานนท์ นำภา ได้กล่าวปราศรัยเรื่องสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย เรียกร้องต่อสาธารณะให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นครั้งแรก (ซึ่งอานนท์ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ด้วย จึงถูกแยกเป็นอีกคดีต่างหาก)

โดยในคดีนี้ ชลธิชาซึ่งเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวของฝ่ายจำเลย ได้ต่อสู้คดีโดยยืนยันว่าตนได้ส่งหนังสือแจ้งจัดการชุมนุมถึง สน.ชนะสงคราม พร้อมระบุอุปกรณ์ที่จะใช้งานและขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง สำหรับบริเวณที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก และในช่วงเวลาที่จัดการชุมนุมนั้นสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ไม่รุนแรง ซึ่งภายหลังการชุมนุมก็ไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อจากที่ชุมนุมแต่อย่างใด รวมถึงไม่เกิดเหตุความวุ่นวายหรือการใช้ความรุนแรงในระหว่างการชุมนุมด้วย เมื่อยุติการชุมนุมแล้วผู้ชุมนุมต่างแยกย้ายกลับอย่างเป็นปกติ

นอกจากนี้ในการสืบพยานยังพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ยังมีการเบิกความขัดแย้งกันเอง เช่น รองผู้กำกับการ สน.ชนะสงครามนายหนึ่งอ้างว่ารับทราบเรื่องการชุมนุมจากผู้กำกับการ ในขณะที่ตัวผู้กำกับการอ้างว่ารองผู้กำกับการนายนั้นเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมเอง, ดาบตำรวจนายหนึ่งยืนยันว่าในที่ชุมนุมมีการตั้งจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิและผู้ชุมนุมใช้เจลแอลกอฮอล์และสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งขัดกับตำรวจนายอื่นที่อ้างว่าไม่มี, ตำรวจบ้างนายยืนยันว่าในวันชุมนุมมีการตั้งแผงเหล็กกั้นไว้ไม่ให้ผลงมาที่พื้นผิวจราจร แม้บางช่วงผู้ชุมนุมจะลงมาบนถนนเพราะบนทางเท้ามีความแออัด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ผู้ชุมนุมก็ขยับออกจากพื้นผิวถนน ในขณะที่ตำรวจบางนายอ้างว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมากลงมาบนพื้นผิวจราจร รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ไม่มีตำรวจนายใดปฏิเสธว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความวุ่นวายหรือเหตุรุนแรงเกิดขึ้น และไม่ตรวจพบอาวุธหรือวัตถุอันตรายใดๆ

บรรยากาศการชุมนุม 3 ส.ค. 65 (ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ศาลยังคงพิพากษาให้มีความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับจำเลยทั้ง 6 เป็นจำนวนคนละ 200 บาท

https://twitter.com/TLHR2014/status/1597148346111913984
https://tlhr2014.com/archives/50951