วันนี้เป็นวันครบรอบ 92 ปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันขณะนี้ประเทศไทยมีการกระทำรัฐประหารมาแล้วทั้งหมด 13 ครั้ง โดยการรัฐประหารครั้งแรกนั้น เกิดไม่ใกล้ไม่ไกลจากวันที่ 24 มิถุนามากนัก เพราะการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร และการรัฐประหารครั้งแรกเช่นกันที่นำมาสู่นวัตกรรมทางกฎหมายที่เรียกว่า “การนิรโทษกรรม” เพราะในระบอบการปกครองไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าการใช้กำลังล้มล้างรัฐ (รัฐประหาร) ถือเป็นการก่อกบฎซึ่งมีโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต


วิธีการจะทำให้ผู้กระทำการรัฐประหารไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายได้นั้นมี 2 ทางเลือก วิธีแรกคือ เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบที่เกิดขึ้นในปี 2475 ที่จะทำให้ระบอบการปกครองเก่า กฎหมายเก่าทั้งหมดถูกล้มเลิก นำไปสู่การไม่มีผลบังคับใช้ของกฎหมาย อีกเส้นทางคือนวัตกรรมที่เรียกว่าการ “นิรโทษกรรม” การรัฐประหารของพระยาพหลฯ ต่อพระยามโนฯ ถึงแม้ว่าผู้ก่อการจะมีเป้าหมายเพื่อรักษาการปฏิวัติ 2475 และรูปแบบการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นจากความพยายามของชนชั้นนำที่จะหมุนเข็มนาฬิกากลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทางออกเดียวที่เหลืออยู่ที่ผู้ก่อการจะไม่ถูกดำเนินคดีกบฎนั่นคือการนิรโทษกรรม กฎหมายนิรโทษกรรมจึงถูกใช้เป็นครั้งแรกของประเทศไทย


ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมทางกฎหมายดังกล่าวได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกนำมาใช้ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อเกิดการรัฐประหารโดยจุดมุ่งหมายที่เปลี่ยนไปเพื่อยึดอำนาจการปกครองจากประชาชน ทำให้การนิรโทษกรรมกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เช่น กองทัพที่ไม่ต้องรับผิดรับชอบในการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้กำลัง


แต่ทว่าการเสนอนิรโทษกรรมประชาชนในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนกับการนิรโทษกรรมครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา เพราะมันจะถูกริเริ่มโดยประชาชน เพื่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการออกมาเรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชน มันคือการใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อประกันเสรีภาพของประชาชน เราเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นหลักประกันแรกที่ดำเนินการผ่านรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นไกลหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย เราอยากให้มองการนิรโทษกรรมเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะใช้เพื่อปกป้องเสรีภาพและการรวมตัวเพื่อต่อสู้กับการรัฐประหารประหนึ่งที่คณะรัฐประหารใช้เพื่อรับรองการกระทำของตนเองเมื่อเกิดการปล้นอำนาจของประชาชน การนิรโทษกรรมประชาชนจึงไม่ใช่การลบล้างความผิดแบบที่คณะรัฐประหารใช้ แต่เป็นหลักประกันที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนเมื่อกองทัพหรือผู้มีอำนาจในสังคมเลือกใช้กำลังในการโค่นล้มประชาธิปไตย