ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 มีใจความว่า “ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16- 20 ปี” และ มาตรา 112 มีใจความว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”


กฎหมายทั้งสองมาตรา (จริงแล้วก็มีมากกว่านี้) ได้ถูกใช้ลงโทษประชาชนที่ต้องการแสดงออกอย่างเสรีถึงการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์ ทว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเกิดความกลัว “ราชภัย” ที่จะเกิดขึ้นต่อราชสำนัก ไม่ว่าการประทุษร้ายหรือการหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์-ราชินี-รัชทายาท-ผู้สำเร็จฯ พวกเขาจึงเห็นว่าควรอย่างยิ่งที่จะต้องกำจัดให้หมดเสี้ยนหนามที่พยายามเสียดแทง “พระยุคลบาท” ของสถาบันอันยิ่งรักของชาวไทย


ตัวอย่างสำคัญ คือ กรณีที่รถขบวนเสด็จของราชินีสุทธิดา และลูกเลี้ยงของเธอ – เจ้าฟ้าทีปังกรฯ ได้แล่นเข้าสู่ถนนพิษณุโลก (ถนนเลียบทำเนียบรัฐบาล) แทนที่จะไปทางถนนราชดำเนินตามกำหนดการเดิม ซึ่งขบวนนั้นก็แล่นฝ่าดงผู้ชุมนุมในบริเวณทำเนียบ และเกิดการชูสามนิ้ว รวมถึงตะโกนโห่ร้องและป่าวตะโกนคำต่าง ๆ ใส่ขบวนเสด็จ เช่น “ภาษีกู” ในการนั้นมีผู้โดนมาตรา 110 อยู่จำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ได้การประกันตัว แต่ก็มีฝ่ายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งได้ลงข่าวในแง่มุมต่าง ๆ กันไปเช่น จะต่อต้านรัฐบาลอย่างไรก็ได้ แต่ห้ามต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์


จากที่กล่าวมานี้เอง จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยม “ยินดี” ที่จะให้นักกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้แต่ ผู้ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ (ที่บางครั้งก็พูดถึงกษัตริย์โบราณ หรือกษัตริย์ในรัชกาลก่อน ๆ ) ได้รับโทษจากการกระทำอัน “หมิ่นเบื้องสูง” และไม่สมควรที่จะได้รับโอกาสในการมีพื้นที่ในสังคม


อย่างที่ปรากฏในข่าวที่ DRG นำเสนอไปวันก่อนที่ว่า นิกร จำนงได้แถลงการณ์นิรโทษกรรมเรื่องฐานความผิดของ ม.110 และ ม.112 ว่ายังไม่ได้เข้าในฐานความผิดด้วย เพราะมองว่ายังเป็นประเด็นอ่อนไหว หรือข่าวขอเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2567 ที่ว่า ธนกร วังบุญคงชนะ (รองหัวหน้าพรรค รทสช.) ขอให้ กมธ. นิรโทษกรรมไม่รับพิจารณาเกี่ยวกับ 2 มาตรานั้น (110 และ 112) เพราะความผิดทั้ง 2 มาตรา เป็นความผิดร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐคือประมุขของประเทศ ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้


นี่เองเป็นเพียงตัวอย่างเพียงน้อยนิดในอีกหลายร้อยหลายพันตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการแสดงออกของนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นนั้น อ้างอิงอยู่บนฐานของการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ (Freedom of Expression : FOE) และพยายามทำให้สถาบันกษัตริย์สามารถเป็นที่พูดถึงได้อย่างเสรี และผนวกกับการผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นเครื่องมือของพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งในการฟ้องร้องพวกเขา นั่นทำให้มีการพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนนั่นเอง DRG จึงเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรากำลังรณรงค์และผลักดันอยู่นี้ (ที่รวม ม.110 และ 112 ไว้ด้วย) จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากที่สุด

อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/thailand-55018091
https://www.ilaw.or.th/articles/9937
https://www.nationtv.tv/main/content/378800877
https://www.thaipost.net/main/detail/80559
https://thestandard.co/thanakorn-amnesty-bill-study-110-112/