เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในคดีการชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” หรือ “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยการชุมนุมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกที่ภาคประชาชนผู้ชุมนุมแสดงข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา นำโดยการปราศรัยของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย

คดีดังกล่าวมีอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและทนายความของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้แจ้งความว่ามีความผิดตามมาตรา 112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และต่อมาพนักงานอัยการก็มีคำสั่งฟ้องโดยระบุถึงถ้อยคำปราศรัยของอานนท์ในวรรคตอนต่างๆ ซึ่งรวมถึงที่กล่าวว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ไปอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี, การที่รัฐบาลส่งเงินงบประมาณให้สถาบันกษัตริย์โดยปราศจากการตรวจสอบ และการแปรสภาพทรัพย์สินสาธารณะไปเป็นทรัพยสินส่วนตัวของกษัตริย์ แล้วสรุปว่าปราศรัยของอานนท์นั้น “มีเจตนาพูดพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยอันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่นใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” “และเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่การกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต แต่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกปั่นทําให้ประชาชนเกิดความตระหนกตกใจ เกิดความเข้าใจผิด และถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์”

เมื่อฝ่ายโจทย์ฟ้องมาโดยส่วนหนึ่งกล่าวหาว่าจำเลยกล่าวความเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง การที่ฝ่ายจำเลยคืออานนท์จะสู้คดีกลับได้อย่างหนักแน่นจึงจำเป็นที่จะต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นเรื่องจริง ซึ่งศาลที่พิจารณาคดีอยู่นั้นโดยหลักการแล้วควรเป็นเวทีที่เปิดให้คู่ความทุกฝ่ายสามารถหยิบยกเอาหลักฐานต่างๆ เข้ามาพิจารณาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด เพื่อนำไปสู่ผลคำพิพากษาที่เที่ยงตรงปราศจากข้อกังขา นั่นคือเหตุผลที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีให้สิทธิคู่ความยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารที่ตนไม่ได้ถือครองอยู่เพื่อมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาได้ โดยในคดีนี้ฝ่ายจำเลย (อานนท์) ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกเอกสารบางฉบับ ซึ่งรวมถึงเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของวชิราลงกรณ์, เอกสารเกี่ยวกับการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์ และเอกสารเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ที่ถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะแต่อยู่ในกิจการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์) ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ (ทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์) เพื่อใช้คัดค้านคำกล่าวหาของพนักงานอัยการ

แต่ปรากฏว่าศาลไม่ยอมเรียกเอกสารดังกล่าวให้ ทั้งยังพยายามดำเนินกระบวนการสืบพยานต่อโดยปราศจากเอกสารที่ฝ่ายจำเลยร้องขอ

“ศาลก็อยากออกหมายเรียกให้นะ… แต่ท่านเข้าใจใช่หรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ข้อความส่วนหนึ่งที่ศาลได้กล่าวอ้างในการไม่เรียกเอกสารให้กับฝ่ายจำเลย ที่บันทึกไว้โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คดีของ “เพนกวิน” ศาลไม่เรียกเอกสารให้เช่นกัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลปฏิเสธไม่ยอมเรียกเอกสารหลักฐานในเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ตามที่จำเลยคดีการเมืองร้องขอเพื่อนำมาใช้ต่อสู้คดี ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ขณะที่ยังถูกศาลสั่งขังและไม่ให้ประกันตัว ได้เข้าสืบพยานในคดีที่ตนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 กรณีปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม Mob Fest (จัดขึ้นเมื่อ 14 พ.ย. 63) ที่มีการกล่าวถึงการอาศัยในเยอรมนีของวชิราลงกรณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งพริษฐ์และทนายความก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารการเดินทางเข้าออกประเทศไทยและประเทศเยอรมนีของวชิราลงกรณ์ ร่วมถึงข้อมูลที่ ส.ส. พรรคกรีนของเยอรมนีได้เคยอภิปรายในสภาเยอรมันว่าด้วยการใช้อำนาจนอกประเทศของวชิราลงกรณ์ แต่ปรากฏว่าศาลก็ไม่ยอมเรียกเอกสารดังกล่าวให้ โดยอ้างว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ” ทั้งที่ในคดีดังกล่าวพริษฐ์ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือนข้อเท็จจริง ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของวชิราลงกรณ์ย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงในการที่พริษฐ์จะคัดค้านข้อกล่าวหานี้

ส.ส. ที่นำปัญหามาหารือ โดนแจ้ง 112 ด้วย

มากไปกว่านั้น ภายหลังมีการรายงานข่าวเรื่องการที่ศาลไม่ยอมเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์กรณีของอานนท์แล้ว วันต่อมา 2 พฤศจิกายน 2565 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้นำประเด็นดังกล่าวเข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าอาจทำให้ประชาชนเกิดข้อกังขาต่อความเป็นอิสระของศาลได้ (ก่อนที่ประธานสภา ชวน หลีกภัย จะปิดไมโครโฟนไม่ให้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์) ปรากฏว่าภายหลังจากนั้น ทรงชัย เนียมหอม ระบุตัวว่าเป็นประธาน “กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน” (ปภส.) ได้เข้าแจ้งความอมรัตน์ที่ สภ.เมืองพัทลุง ในข้อหามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการที่อมรัตน์ลงคลิปการปรึกษาหารือดังกล่าวในทวิตเตอร์ของตัวเอง

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ปรึกษาหารือกรณีศาลไม่ยอมเรียกเอกสารเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

DRG เห็นว่าการที่จำเลยคดีการเมืองซึ่งรวมถึงคดีมาตรา 112 พยายามต่อสู้ในชั้นศาลด้วยการร้องขอให้ศาลเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นพยานหลักฐาน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังยืนยันว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองซึ่งรวมถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น สามารถกระทำได้โดยสันติวิธีและอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ดังนั้นในขั้นต่ำที่สุดศาลจึงต้องทำตัวเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้สู้คดีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม สามารถขอพยานหลักฐานมาใช้ได้อย่างเต็มที่ การที่ศาลใช้ข้ออ้างข้างๆ คูๆ ไม่ยอมเรียกเอกสารที่จำเลยร้องขอมาทั้งที่มันเกี่ยวข้องกับสาระสำคัญของคดีโดยตรง ย่อมไม่ต่างจากการเลือกแล้วว่าจะยืนอยู่ข้างผู้กล่าวหาที่มักเลือกใช้วิธีฟ้องคดีกลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง ซึ่งมีแต่จะทำให้ประชาชนปฏิเสธศาล ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ปฏิเสธระบบกฎหมาย และปฏิเสธสันติวิธีมากยิ่งขึ้นในอนาคต

https://tlhr2014.com/archives/34773
https://tlhr2014.com/archives/50207
https://www.facebook.com/paritchiwarakofficial/posts/511498873671036
https://prachatai.com/journal/2022/11/101263