8 มีนาคม 2566 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการสืบพยานคดีการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นการเดินขบวนจากแยกสามย่านตามแนวถนนพระราม 4 ไปยังสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือขอให้ทางการเยอรมนีตรวจสอบว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ซึ่งพำนักอาศัยระยะยาวอยู่ในประเทศเยอรมนีมีการใช้ราชอำนาจบนดินแดนเยอรมนีหรือไม่ พร้อมทั้งอ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา (ไทย, อังกฤษ, เยอรมัน) ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

ในคดีดังกล่าว แรกเริ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาหนักสุดเพียงแค่การยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ทว่าในเวลาต่อมาหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศดำเนินคดีด้วยกฎหมายทุกมาตราต่อผู้ชุมนุม ก็ได้มีการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มอีกฐานหนึ่งด้วย

โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ​ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ฟ้องจำเลย 13 คน ข้อกล่าวหาส่วนหนึ่งระบุว่าแถลงการณ์และคำปราศรัยของจำเลยทำให้ผู้รับสารเข้าใจว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ใช้ราชอำนาจบนดินแดนประเทศเยอรมนีโดยมิชอบ เป็นการใส่ความกษัตริย์วชิราลงกรณ์ต่อบุคคลที่สามด้วยความเท็จ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติยศ

จำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี (ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

คดีดังกล่าวมีการสืบพยานนัดแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 โดยฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อการต่อสู้คดี 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1. ขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ กล่าวคือคัดลอกหลักฐานที่โจทก์นำมายื่นกล่าวหาจำเลย เพื่อนำกลับไปวิเคราะห์หาช่องทางต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย ซึ่งในคดีนี้หลักฐานที่ฝ่ายโจทก์ยื่นมา ได้แก่ แผ่น CD 6 แผ่น ซึ่งคาดว่าเป็นคลิปวิดีโอการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในวันชุมนุม

2. ขอเพิ่ม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพยานบุคคล และขอให้ศาลออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ มาเบิกความต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกษัตริย์วชิราลงกรณ์และสถาบันกษัตริย์

3. ขอเพิ่มรายการเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อต่อสู้ ได้แก่ เอกสารข้อมูลรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 13 – 31 ตุลาคม 2563 และเอกสารข้อมูลรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ประจำปีงบประมาณ 2560 – 2563 และขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวจากหน่วยงานหรือผู้ที่ถือครองไว้ ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่ไทยในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในกรณีข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ และหน่วยราชการในพระองค์ ในกรณีข้อมูลรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์

ทว่าศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงนามคำสั่งโดยผู้พิพากษา ธัญญวรรตร์ วงศ์รัตน์ กลับยกคำร้องทั้งหมด โดยในเรื่องที่ 1. อ้างว่าหลักฐานที่โจทก์ยื่นมาอาจมีถ้อยคำที่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องจำนวนมาก หากปล่อยให้คัดถ่ายแล้วมีการทำสำเนาหรือตัดต่อจนแพร่หลายออกไปจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ศาลจึงให้ทนายจำเลยตรวจสอบวัตถุพยานโจทก์ได้ที่อาคารศาลภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ศาลเท่านั้น ในขณะที่เรื่องที่ 2. และ 3. อ้างว่า “ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้” และพยายามเดินหน้าการสืบพยานต่อโดยที่ฝ่ายจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หลักฐานเข้าต่อสู้คดี (ล่าสุด 9 มี.ค. 66 ศาลสั่งเลื่อนการสืบพยาน ให้จำเลยไปขวนขวายหาหลักฐานมาเองในเวลา 60 วัน)

Fair Trial?

โดยหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Fair Trial) ศาลต้องเป็นเวทีที่เปิดให้คู่ความทุกฝ่ายสามารถหยิบยกเอาพยานหลักฐานต่างๆ เข้ามาพิจารณาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุด เพื่อนำไปสู่ผลคำพิพากษาที่เที่ยงตรงปราศจากข้อกังขา โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ หากไม่ได้เป็นพยานที่เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น ย่อมใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ และมาตรา 239 กรณีพยานเอกสารที่คู่ความฝ่ายใดอ้างถึง แม้ตัวคู่ความจะไม่ได้มีเอกสารนั้นอยู่ในความยึดถือของตัวเอง แต่ถ้าแจ้งถึงลักษณะและที่อยู่ของเอกสารต่อศาล ก็ให้ศาลออกหมายเรียกไปยังผู้ที่ยึดถือเพื่อนำเอกสารนั้นมาให้กับศาล ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อให้การพิจารณาคดีสามารถเข้าถึงพยานหลักฐานที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงที่สุด

ในเมื่อคดีนี้ฝ่ายโจทก์คือพนักงานอัยการระบุข้อกล่าวหาว่าจำเลยใส่ความกษัตริย์วชิราลงกรณ์ต่อบุคคลที่สามด้วยความเท็จ หนึ่งในนั้นคือด้วยการทำให้ผู้ฟังการปราศรัยหรือแถลงการณ์เข้าใจว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ใช้ราชอำนาจบนดินแดนประเทศเยอรมนีโดยมิชอบ ฝ่ายจำเลยจึงจำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าคำกล่าวถึงการใช้อำนาจของกษัตริย์วชิราลงกรณ์บนดินแดนเยอรมนีนั้นเป็นการพูดบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ซึ่งหลักฐานที่ว่านั้นก็คือข้อมูลรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ว่าได้มีการเดินทางไปเยอรมนีจริงหรือไม่ รวมถึงพยานบุคคลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างดี เพื่อมาซักถามข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งหากพยานหลักฐานเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่จำเลยพูดเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่การกล่าวความเท็จแล้ว จำเลยอาจใช้เป็นประเด็นในการต่อสู้คดีของตนต่อไปได้ การที่ศาลยกคำร้องของจำเลยที่ขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานเหล่านี้เท่ากับว่าฝ่ายจำเลยจะไม่มีพยานหลักฐานเพื่อใช้สู้คดีเลย ในขณะที่ฝ่ายโจทก์มีพยานหลักฐานไว้สนับสนุนการกล่าวหาจำเลยได้อย่างสะดวก

มากไปกว่านั้น แม้กระทั่งพยานหลักฐานของโจทก์ที่ยื่นเข้ามาได้แบบไม่ถูกศาลขัดขวาง จำเลยก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดถ่ายกลับไปได้ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ข้อมูลว่าปรกติในคดีมาตรา 112 และมาตรา 116 คดีอื่นๆ ศาลก็ยังอนุญาตให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ได้ และอธิบายว่าการที่ศาลไม่ให้จำเลยคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์กลับไป แต่สั่งให้มาตรวจสอบเองที่ศาลนั้นเป็นการสร้างภาระแก่จำเลยเป็นอย่างมาก เพราะจะมีโอกาสตรวจสอบได้เฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น ในขณะที่จำเลยมีจำนวนมากถึง 13 คน และต้องใช้ทนายความถึง 11 คน การต้องมาตรวจสอบพยานโจทก์ที่ศาลจึงเกิดความยุ่งยาก ทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุพยานที่โจทก์ยื่นมามีการดัดแปลงหรือปลอมแปลงหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถปรึกษาหารือแนวทางสู้คดีได้อย่างเป็นส่วนตัวเพราะมีเจ้าหน้าที่ศาลคอยสอดส่องอยู่ตลอดเวลา

การที่ศาลคอยขัดขวางไม่ให้ฝ่ายจำเลยเข้าถึงพยานหลักฐานที่จำเป็นได้ ทั้งพยานหลักฐานที่จำเลยขอมาเพื่อใช้สู้คดี และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จำเลยขอนำไปวิเคราะห์หาทางตอบโต้ แล้วยังจะพยายามสืบพยานต่อไป จึงเป็นการที่ศาลวางแนวทางการพิจารณาคดีในแบบที่ฝ่ายจำเลยจะแพ้ตั้งแต่ต้น หากเปรียบกับการชกมวย ศาลที่เป็นกรรมการกลับเข้ามาล็อกแขนนักชกมุมจำเลย จนทำให้นอกจากจะออกหมัดใส่คู่ต่อสู้ไม่ได้แล้ว แม้แต่จะตั้งการ์ดรับหมัดก็ทำไม่ได้ แม้แต่จะเคลื่อนตัวหลบหมัดก็ทำไม่ได้ และหากจะมีความเป็นไปได้เพียงน้อยนิดที่จะทนรับหมัดฝ่ายตรงข้ามจนหมดเวลาไปได้โดยไม่โดนน็อกเอาต์เสียก่อน ก็ไม่พ้นจะต้องแพ้คะแนนอยู่ดี

การกระทำที่ไร้ยางอาย ไม่มีกระดูกสันหลังเช่นนี้ ทำให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมแทนที่จะเป็นผู้พยุงศรัทธาของประชาชนในสังคมที่มีต่อระบบกฎหมาย ในทางปฏิบัติกลับเป็นเพียงส่วนต่อขยายของปฏิบัติการทำลายล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริยไทย ซึ่งสั่งการมาจากผู้มีอำนาจเท่านั้น

จำเลยงัดข้อเท็จจริงกษัตริย์ใช้อำนาจนอกประเทศ พูดเองกลางศาล

ช่วงหนึ่งในการพิจารณาคดี เมื่อศาลไม่ให้จำเลยเพิ่มพยานหลักฐานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กรกช แสงเย็นพันธ์ สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้แถลงต่อศาลโดยหยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้สืบค้นมาด้วยตัวเองขึ้นพูดด้วย นั่นคือกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนัก เช่นสำนักข่าว Bild ของเยอรมนี, สำนักข่าว Dailymail และ Independent ของสหราชอาณาจักร รายงานข่าวในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์กำลังกักตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ COVID-19 อยู่ในโรงแรม Grand Hotel Sonnenbichl ประเทศเยอรมนี ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองปรากฏว่ามีการใช้อำนาจของกษัตริย์ไทย เช่น ประกาศพระราชทานยศตำรวจชั้นนายพลและแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

บทความข่าวของสำนักข่าว Dailymail ลงวันที่ 29 มีนาคม 2563 รายงานว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์กักตัวเองอยู่ในโรงแรมในประเทศเยอรมนี
ประกาศพระราชทานยศตำรวจชั้นนายพล และแต่งตั้งข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563 ซึ่งต้องสงสัยว่าเกิดขึ้นในระหว่างที่วชิราลงกรณ์อยู่ที่เยอรมนี

ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่ฝ่ายจำเลยหยิบยกมา เป็นตัวอย่างหนึ่งของเหตุอันควรสงสัยว่ากษัตริย์ไทยมีการใช้อำนาจบนแผ่นดินของรัฐอื่น ซึ่งสมควรได้มีการพิสูจน์ในรายละเอียดต่อไปผ่านเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ฝ่ายจำเลยได้ขอเพิ่มในการสืบพยาน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของฝ่ายจำเลยนั้นเป็นการใช้เสรีภาพโดยสุจริตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ดังนั้นจึงสมควรที่จะต้องตั้งคำถามกลับไปยังศาลว่าการที่ศาลไม่ยอมให้ฝ่ายจำเลยขอพยานหลักฐานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นเพราะศาลเอง รวมถึงบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลาย ทั้งที่นั่งบัลลังก์พิจารณาอยู่ และที่เป็นผู้บริหารศาลอยู่เบื้องหลัง ไม่อยากจะยอมรับความจริงบางอย่างเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยที่จะถูกยืนยันได้ผ่านพยานหลักฐานเหล่านั้น ใช่หรือไม่?

ไม่ใช่แค่คดีเดียวที่เป็นแบบนี้

คดีนี้ไม่ใช่คดีเดียวที่ศาลสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอเพิ่มพยานหลักฐานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานดังกล่าว ปรากฏการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นในคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น

1. คดี “19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ชุมนุมเมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2563 จำเลยมาตรา 112 จำนวน 7 คน ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานซึ่งรวมถึงข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์, ข้อมูลการใช้งบประมาณราชการส่วนพระองค์, ข้อมูลการใช้จ่ายของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จำเลยยื่นคำร้องและศาลยกคำร้องมาอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ จะเปิดเผยไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

2. คดี “Mob Fest” ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 จำเลยคือพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ได้ยื่นขอข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์เช่นกัน รวมถึงข้อมูลการที่ ส.ส. พรรคกรีนของเยอรมนีได้เคยอภิปรายในสภาเยอรมันว่าด้วยการใช้อำนาจนอกประเทศของวชิราลงกรณ์ ศาลยกคำร้องโดบอ้างว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ” ทำนองเดียวกันกับคดีหน้าสถานทูตเยอรมนี

3. คดี “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์” ชุมนุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 จำเลยคืออานนท์ นำภา ยื่นขอข้อมูลการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของกษัตริย์วชิราลงกรณ์, ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เงินของสถาบันกษัตริย์ ข้อมูลเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะแต่อยู่ในกิจการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์) ไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ (ทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์) ศาลยกคำร้อง โดยมีบันทึกข้อกล่าวอ้างของศาลตอนหนึ่งที่พูดว่า “ศาลก็อยากออกหมายเรียกให้นะ แต่ท่านเข้าใจใช่หรือไม่ว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”

https://database.tlhr2014.com/public/case/1761/lawsuit/545/
https://tlhr2014.com/archives/32493
https://tlhr2014.com/archives/54073
https://www.bild.de/bild-plus/unterhaltung/leute/leute/wegen-corona-thai-koenig-macht-luxus-hotel-in-bayern-zu-seinem-wohnhaus-69581458.bild.html
https://www.dailymail.co.uk/news/article-8164535/King-Thailand-self-isolates-coronavirus-German-hotel-harem-20-concubines.html
https://www.independent.co.uk/news/world/europe/coronavirus-thailand-king-maha-vajiralongkorn-grand-hotel-sonnebichl-germany-a9431936.html
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17127605.pdf
https://tlhr2014.com/archives/48377
https://drgth.co/court_refused_to_summon_documents_about_monarchy/