กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดทำข้อเสนอนโยบายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพื่อนำเสนอแก่พรรคการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่จะมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566
ในบ้านเมืองที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สถาบันกษัตริย์ที่ไม่ถูกจำกัดอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญมีแต่จะเสื่อมสลาย หากจะรักษาสถาบันกษัตริย์ไทยให้ยั่งยืน จำเป็นต้องนำมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ด้วยนโยบายดังต่อไปนี้
เลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูป
1. แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 6
สถานะของกษัตริย์ที่ “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” มาจากข้อความว่า “The king can do no wrong” ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องแปลความว่ากษัตริย์จะไม่ต้องรับผิดก็ต่อเมื่อการใช้อำนาจนั้นมีผู้รับสนองราชโองการเป็นผู้ตัดสินใจใช้อำนาจตัวจริงและเป็นผู้รับผิดชอบแทน (เช่น นายกรัฐมนตรี)
ทว่าในการเมืองไทย ข้อความนี้กลับถูกนำไปอ้างไม่ให้มีผู้ใดสามารถวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้เลย รวมถึงใช้อ้างเป็นฐานของการมีมาตรา 112 ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตย จึงสมควรแก้ข้อความใหม่ให้ชัดเจน
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
กษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์เป็นผู้ใช้อำนาจและทรัพยากรของรัฐและมีอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อประเทศและประชาชนได้อย่างกว้างขวาง สมควรที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจและจริยวัตรได้ หากมีเรื่องใดคลาดเคลื่อนย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะชี้แจง การมีอยู่ของกฎหมายที่กำหนดให้การแสดงความเห็นต่อบุคคลที่มีสถานะเช่นนี้กลายเป็นความผิดเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
3. ให้รัฐบาลมีหน้าที่ตรวจทานพระราโชวาทและพระราชดำรัสก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ
เมื่อกษัตริย์เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อประเทศและประชาชนมาก เพื่อมิให้พระราโชวาทและพระราชดำรัสมีจุดที่อาจสร้างความขัดแย้งทางการเมืองได้ สมควรที่จะต้องให้รัฐบาลตรวจทานคำแถลงก่อนจะเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งหากว่าได้ตรวจสอบและเผยแพร่แล้วปรากฏว่ายังมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ก็ให้ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล
4. กำหนดให้กษัตริย์ต้องไม่รับรองคณะรัฐประหาร
การลงพระปรมาภิไธยให้กับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อความสำเร็จของคณะรัฐประหาร จึงสมควรเพิ่มมาตราในรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ กำหนดให้กษัตริย์ต้องไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหาร
ยุบกองกำลังส่วนตัวของกษัตริย์ ที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล
1. แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 15 และยกเลิก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์
กฎหมายดังกล่าวส่งผลให้การบริหารราชการในพระองค์จากเดิมอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล กลายเป็นไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของกษัตริย์โดยตรง ปราศจากซึ่งการกำกับดูแลของผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดการใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็น การเล่นพรรคเล่นพวก และการสั่งสมอำนาจและอิทธิพลในหมู่ข้าราชการในพระองค์ ซึ่งจะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ได้ จึงสมควรแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว
2. ยกเลิกหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ลดความซ้ำซ้อนกับกรมราชองครักษ์
หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการและกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2557 ทั้งที่แต่เดิมมีกรมราชองครักษ์ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยได้อย่างเป็นปรกติอยู่แล้ว หน่วยงานดังกล่าวใช้งบประมาณถึง 1,012 ล้านบาท (ปี 2559 ก่อนโอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์) จึงสมควรยกเลิกแล้วให้กรมราชองครักษ์เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยแต่เพียงหน่วยเดียว
3. ยกเลิกตำแหน่งองคมนตรี โอนภารกิจไปให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ทำนองเดียวกัน
ในระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่กษัตริย์ในการใช้อำนาจเพื่อกิจการของบ้านเมือง (และรับผิดชอบการใช้อำนาจนั้นๆ) อยู่แล้ว ในขณะที่กิจการหรือภารกิจที่เป็นเรื่องส่วนพระองค์ก็อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง จึงสมควรยกเลิกตำแหน่งองคมนตรีแล้วโอนภารกิจไปเป็นของหน่วยงานรัฐดังกล่าวข้างต้นทำการแทน
ราชอาณาจักรที่ไม่มีตำแหน่งองคมนตรี | ราชอาณาจักรที่งานที่ปรึกษาให้กษัตริย์ เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี |
---|---|
ญี่ปุ่น, สวีเดน, มาเลเซีย | เดนมาร์ก, นอร์เวย์ |
ตามกษัตริย์กลับบ้าน
1. แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 16 จะออกนอกประเทศต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น
กษัตริย์มีฐานะเป็นประมุขของรัฐ ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยเป็นหลัก หากมีกรณีต้องเสด็จออกนอกประเทศจึงจำเป็นต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสมอ การเปิดช่องให้กษัตริย์ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ อาจทำให้เกิดกรณีที่กษัตริย์เสด็จไปพำนักระยะยาวในต่างประเทศโดยไม่มีการประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ (เพราะไม่มีการตั้งผู้สำเร็จราชการฯ) และอาจนำมาซึ่งข้อครหาจากต่างประเทศ เป็นที่เสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์ได้ จึงสมควรแก้มาตรา 16 เพื่อกำหนดให้ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อกษัตริย์เสด็จออกนอกประเทศทุกครั้ง
“พอเพียง” ให้เห็นเป็นแบบอย่าง
1. แก้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561
“ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือทรัพย์สินที่รัฐเป็นเจ้าของ มีไว้เพื่อดำเนินกิจการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มิใช่ทรัพย์สินที่สถาบันกษัตริย์จะนำไปแสวงหาประโยชน์เป็นการส่วนตัว การเปลี่ยนทรัพย์สินดังกล่าวให้กลายเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของกษัตริย์อาจนำไปสู่การใช้ความมั่งคั่งสร้างอิทธิพลไม่ต่างจากที่นายทุนกระทำ ซึ่งบ่อยครั้งสร้างความถดถอยแก่ระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ. นี้
2. นำที่ดินและหุ้นที่กษัตริย์ถือล้นมือมาทำโครงการและกองทุนช่วยประชาชน
มี “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” หลายอย่างที่ในวันนี้กลายเป็นของส่วนตัวของกษัตริย์ เช่นที่ดินกว่า 38,000 ไร่ทั่วประเทศ ในบางที่ประชาชนที่เคยได้ใช้ประโยชน์กลับถูกกีดกันออกไปแล้วนำที่ดินไปใช้แสวงหากำไร จึงสมควรนำที่ดินเหล่านี้มาเป็นโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชน เช่น ตลาด, การเคหะ ในแบบที่ประชาชนในท้องที่ร่วมกำหนดได้ว่าให้นำไปใช้ทำอะไร และไม่ต้องกังวลว่าจะมีการไล่ที่อีก
นอกจากนี้ยังมีหุ้นบริษัทต่างๆ ที่ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม สมควรนำเงินปันผลเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยเช่นกัน
3. ห้ามบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับสถาบันกษัตริย์
การบริจาคให้กับผู้มีอำนาจรัฐบ่อยครั้งเป็นไปเพื่อสร้างเส้นสายหรือติดสินบน จึงมีการกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการเมืองรับผลประโยชน์มูลค่าเกิน 3,000 บาท ถ้าเช่นนั้นแล้วสถาบันกษัตริย์ซึ่งมีอำนาจที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ยิ่งต้องได้รับการควบคุมอย่างเคร่งครัดไม่ให้ใครคิดหาประโยชน์ด้วยการแอบอิงกับสถาบันกษัตริย์ผ่านการบริจาคได้
4. ลดงบกษัตริย์ที่พุ่งติดจรวด นำมาใช้เป็นสวัสดิการประชาชนแทน
“ส่วนราชการในพระองค์” เคยใช้งบประมาณสูงถึง 9,814 ล้านบาทในปี 2563 (และล่าสุดในปี 2566 ยังสูงถึง 8,611 ล้านบาท) ในขณะที่หน่วยงานเดิมก่อนหน้านี้ (สำนักราชเลขาธิการ, สำนักพระราชวัง, กรมราชองครักษ์) ใช้เพียง 4,897 ล้านบาท (ปี 2560) นอกจากนี้ยังมีงบถวายความปลอดภัยและขบวนเสด็จ, งบ “เทิดทูน”, งบก่อสร้างในวัง, งบอากาศยานราชพาหนะ ฯลฯ รวมแล้วเฉลี่ยปีละ 15,000 ล้านบาท พุ่งขึ้นเป็นถึง 2.5 เท่าของงบก่อนรัฐประหารปี 2557 (ขณะที่งบทั้งประเทศเพิ่มแค่ 1.26 เท่า) จึงสมควรลดเพื่อมาเป็นสวัสดิการประชาชนได้อีกจำนวนมาก
(อ่านเอกสาร “ราษฎรบอกให้รัฐบาลทำ” รวบรวมข้อเสนอนโยบายประเทศจากภาคประชาชนถึงรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่นี่)