8 พฤษภาคม 2565 ครบรอบ 10 ปี การเสียชีวิตของอากง อำพล ตั้งนพกุล หนึ่งในเหยื่อของการใช้มาตรา 112 ของคนบางคน บางกลุ่ม บางฝ่าย ที่ตั้งตนว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และคิดว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะกำจัดผู้ที่อยู่ตรงข้าม โดยไม่ต้องสนใจแม้กระทั่งว่าคนที่พวกตนมุ่งเป้านั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงอย่างไม่ต้องสงสัยหรือไม่

ในปัจจุบันนี้ที่ทั้งมาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมของไทยทั้งหมดทั้งมวลได้เสื่อมมนต์ขลังลง ประชาชนต่างตั้งข้อกังขาต่อทั้งตัวบทกฎหมายและตัวผู้ตีความกฎหมายกันอย่างถ้วนทั่ว จนบรรดาผู้พิพากษาเองเริ่มออกอาการไม่อยากเป็นที่รู้จักของใครๆ จนกระทั่งในการพิจารณาคดีการเมืองครั้งนี้ ผู้พิพากษาถึงกับกล่าวออกมาว่าศาลจะมีแนวทางในการจัดการกับผู้ที่โพสต์ระบุชื่อผู้พิพากษา ถ้าทนายความเป็นคนทำจะแจ้งสภาทนายความให้ทราบ ส่วนถ้าประชาชนเป็นคนทำ ทางสำนักงานของศาลจะดำเนินคดี (อ่านกรณีดังกล่าวได้ ที่นี่)

DRG ยืนยันในหลักการว่าผู้ใดที่ใช้อำนาจเป็นคุณเป็นโทษต่อผู้อื่น ก็ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจดังกล่าวของตัวเองด้วย ซึ่งการเปิดเผยชื่อตัวเองออกมาก็คือหนึ่งในความรับผิดชอบนั้น ดังนั้นในโอกาสนี้ DRG ขอย้อนไปทบทวนเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ผู้พิพากษาแต่ละคนที่มีส่วนร่วมในคดีนี้ยังเปิดชื่อของตัวเองออกมาอย่างเชิดหน้าชูตา ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไรบ้าง

ในคำพิพากษาศาลอาญา หมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ที่ตัดสินให้อากงมีความผิดตามมาตรา 112 หนึ่งในผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษาดังกล่าว และเป็นผู้ขึ้นบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในวันนั้น คือชนาธิป เหมือนพะวงศ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการศาลอุทธรณ์)

โดยในคำพิพากษาดังกล่าวนั้น ความส่วนหนึ่งระบุว่า “แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข… แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใดๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกัน จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุ จำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้ง 4 ข้อความตามฟ้อง” 

การอ้างเหตุผลดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าศาลพิพากษาให้บุคคลคนหนึ่งมีความผิดที่โทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี (คดีนี้ลงโทษ 4 กระทง กระทงละ 5 ปี รวม 20 ปี) โดยอาศัยเพียงแค่พยานแวดล้อมอย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เลย ยิ่งไปกว่านั้นคือพยานแวดล้อมที่นำมาใช้กล่าวหา คือหมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) และบันทึกการใช้งาน (log) ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้สันทัดกรณีว่าไม่แน่ชัดและไม่เพียงพอในการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้จริงและสามารถปลอมแปลงได้ง่าย นั่นหมายความว่าพยานแวดล้อมที่อ้างมาไม่ได้ตัดขาดความเป็นไปได้ว่าอาจมีคนอื่นนอกจากอากงที่เป็นผู้ที่สามารถกระทำการตามที่ฟ้องได้ และแม้ว่าในการกระทำผิดร้ายแรงผู้กระทำมักจะปกปิดไม่ให้คนอื่นรู้ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะละเลยการเสาะแสวงหาประจักษ์พยาน แล้วหันมาพึ่งแต่พยานแวดล้อมเพื่อหวังเอาผิดต่อจำเลยที่ปรากฏตัวอยู่ต่อหน้าเท่านั้น เพราะความจริงแล้วผู้กระทำตัวจริงอาจเป็นบุคคลอื่นที่ยังระบุตัวไม่ได้ก็เป็นได้

สำหรับตัวผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ คนนี้ เขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างในเวลาต่อมา จากผลงานการสั่งคุมขังและไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมืองและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจำนวนมากในหลายๆ ครั้ง ผู้ที่เคยถูกคุมขังด้วยคำสั่งของเขา เช่น อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์), ปริญญา ชีวินกุลปฐม (พอร์ท ไฟเย็น), ภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์), จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน), ปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้), ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ (แอมมี่) (ดูตัวอย่างผู้พิพากษาบางคนที่สั่งคุมขังได้ ที่นี่)

นอกจากนี้ยังมีผู้พิพากษาคนอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ภัทรวรรณ ทรงกำพล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่ลงนามในคำพิพากษาคดีอากง, อนุกูล นาคเรืองศรี เป็นผู้พิพากษาที่ร่วมในกระบวนการพิจารณาคดี แต่ไม่ปรากฏว่าลงนามในคำพิพากษา

และอีกหนึ่งคนที่ขาดไม่ได้คือสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรมในขณะนั้น (ตำแหน่งล่าสุดที่สืบค้นพบ คือ ประธานเเผนกคดีเยาวชนเเละครอบครัวในศาลฎีกา) ที่ถึงกับออกมาเขียนบทความ “อากงปลงไม่ตก” แปะป้ายอากงว่าเป็นบุคคลที่ “เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” ซึ่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นอันใดเลยในการทำหน้าที่โฆษกศาล การเขียนบทความแปะป้ายเช่นนี้ออกมาในช่วงเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งอากงยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์คดีนั้นยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สังคมในเวลานั้นมีทัศนคติทางลบต่ออากงอย่างหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก เป็นส่วนหนึ่งของการออกคำพิพากษาทางสังคมที่ทำลายความหวังในการสู้คดีของอากงไปในที่สุด

ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ (ซ้าย), สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ (ขวา)

จนถึงทุกวันนี้ คำพิพากษาฉบับนั้นที่มีขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วยังคงติดตัวอากงไปในโลกหลังความตาย ทำให้ชายผู้นี้ยังคงตกเป็นผู้กระทำผิดมาตรา 112 มาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้นแล้วใครบ้างที่มีส่วนนำมาสู่การทำลายชีวิตอากงตั้งแต่ยังมีลมหายใจ ก็ต้องขอจารึกชื่อคนเหล่านี้ไว้ ให้สิ่งที่พวกเขาทำติดตัวพวกเขาไปอีกนานเท่านานด้วยเช่นกัน

https://prachatai.com/sites/default/files/Ampon.pdf
https://ilaw.or.th/node/1229
https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10162818823879848
https://www.blognone.com/news/28139/จดหมายเปิดผนึก-blognone-ถึงรัฐบาลต่อคดีนายอำพล-คดีอากง-sms
https://thainetizen.org/2011/12/techincal-opinion-arkong-sms/
https://www.posttoday.com/politic/report/126926