ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

8 พฤษภาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้องคดีที่ตำรวจ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ โดย พ.ต.ท.อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ตั้งข้อหามาตรา 112 แก่ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ (รามิล) นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่ม artn’t จากกรณีแสดงศิลปะการแสดงสด (Performance Art) บริเวณป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564

การแสดงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยคดีการเมือง โดยศิวัญชลีได้ยืนอยู่บนฐานของป้ายชื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งข้างบนของป้ายนั้นมีฉายาลักษณ์ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ติดตั้งอยู่อีกทีหนึ่ง ใช้สีแดงราดตัวซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่าจำเลยย่อมคาดหมายได้ว่าจะเปรอะเปื้อนฉายาลักษณ์ของวชิราลงกรณ์ และทำท่าร่ายรำซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยชี้เท้าไปยังฉายาลักษณ์และทำท่าเลียนแบบครุฑซึ่งเป็นของสูง จึงเป็นการหมิ่นกษัตริย์

ส่วนฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าการแสดงของศิวัญชลีนั้นเป็นการสื่อสารต่อกรณีที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ยึดงานศิลปะของนักศึกษาไปทิ้งโดยอ้างเรื่องการเมือง และกรณีที่มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) โกนผมประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้แก่บุตรชาย อีกทั้งการจะตีความศิลปะการแสดงสดนั้นต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่สามารถดูแค่ภาพเพียงภาพเดียวและตีความออกมาได้เลยตามภาพนิ่งที่โจทก์อ้าง

ในท้ายสุดศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยโดยให้เหตุผลว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย เป็นการหมิ่นประมาท (ต้องมีการใส่ความด้วยการยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ) หรือเป็นการดูหมิ่น (ต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ต้องรอติดตามต่อไปว่าอัยการฝ่ายโจทก์จะอุทธรณ์คดีหรือไม่ หากไม่อุทธรณ์คดีจะสิ้นสุดลง

https://tlhr2014.com/archives/55771
https://tlhr2014.com/archives/55786