ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) หลังการอ่านข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 (ภาพ: Thai News Pix)

วันพรุ่งนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยคำร้อง ว่าการปราศัยของอานนท์ นำภา, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง), และภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์) ในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และมีข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือไม่

ผู้ที่ยื่นคำร้องดังกล่าว ได้แก่ ณฐพร โตประยูร หนึ่งใน “นักร้อง” ขาประจำที่ชอบยื่นคำร้องเพื่อขัดขวางการดำเนินการของบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ มีผลงานขึ้นชื่อจากการยื่นคำร้องเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ส่วนหนึ่งของคำร้องกล่าวอ้างว่าตราสัญลักษณ์ของพรรคนั้นเหมือนกับกลุ่ม “อิลลูมินาติ” มาแล้ว (แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องดังกล่าว)

ส่วนมาตรา 49 นั้น ก็คือทายาทสืบทอดต่อมาจากมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่ในอดีตเคยนำมาใช้เป็นเครื่องมือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้ว ได้แก่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กลายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข (คำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 โดยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4)

การปราศรัยดังกล่าวที่ถูกนำมายื่นคำร้องนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขได้เลย ประการแรก การปราศรัยดังกล่าวมิได้เรียกร้องให้นำไปสู่ระบอบเผด็จการอย่างแน่นอน จึงไม่ใช่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และอีกปราการหนึ่ง การปราศรัยดังกล่าวเป็นการเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ทั้งการเรียกร้องดังกล่าวและการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบันย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ แม้แต่ในราชอาณาจักรอื่นๆ ในโลกนี้ก็ยังทำกันได้ จึงไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์

แต่หากในวันพรุ่งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การกระทำดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แล้ว แน่นอนเลยว่าคำวินิจฉัยนี้จะกลายเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจจะหยิบมาใช้ปราบปรามการตต่อสู้เรียกร้องของประชาชนอย่างหนักที่สุด และปิดปากไม่ให้มีการพูดถึงประเด็นปัญหาของสถาบันกษัตริย์ได้ในทางสาธารณะ ทำให้กษัตริย์ยังคงอยู่กับปัญหาที่สั่งสมคั่งค้างมาต่อไป ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ถูกเกลียดชังมากยิ่งขึ้นไปอีก

DRG ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมติดตามการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการนัดรวมตัวกันที่อาคาร A ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป และศาลจะอ่านคำวินิจฉัยเวลาประมาณ 15.00 น.

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยโดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอนาคตของประเทศนี้

https://www.bbc.com/thai/thailand-53768122
https://news.thaipbs.or.th/content/288165
https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/file_import/center15-18_56.pdf