ภายหลังจากการปิดการรับฟังความความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยผ่านทางกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มีหนังสือขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยประชาสัมพันธ์ชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดที่ทำให้มีการแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ให้กับองค์กรสภาชุมชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจ
(ดูร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ได้ที่
https://files.law.go.th/dgaBackoffice/2022-02-23-10%3A09%3A49_ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร.pdf)
โดยเนื้อหาที่ชี้แจงระบุประเด็นไว้ 5 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหลักการใน “การควบคุม” การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายนี้ออกแบบวิธีการโดยให้ภาครัฐ “กำกับดูแล” องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ไม่ได้มีลักษณะเป็นการ “ควบคุม” จึงไม่ได้กำหนดให้มีระบบอนุญาต สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้หลีกเลี่ยงการใช้ระบบอนุญาต ทั้งนี้ องค์กรมีเพียงหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ตามมาตรา 19 หน้าที่ในการจัดทำและเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายตามมาตรา 22 หน้าที่ในการไม่ดำเนินกิจกรรมตามมาตรา 20 และหากเป็นองค์กรที่รับเงินบริจาคจากต่างประเทศจะมีหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่มเติมตามมาตรา 21
2. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องมาจดทะเบียนหรือต้องขออนุญาตในการก่อตั้งองค์กร ดังนั้นการรวมกลุ่มตั้งองค์กรจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ จึงไม่ได้ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ การรวมกลุ่มจึงทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่กับประชาชนเกินความจำเป็น
3. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรม กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรยังคงมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ดังนั้นในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ขององค์กรจึงไม่ต้องขออนุญาตจากนายทะเบียน โดยภาครัฐจะควบคุมเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 20 เท่านั้น เช่น กิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
4. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค โดยเฉพาะเงินบริจาคจากต่างประเทศ กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรยังคงมีอิสระในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางภาครัฐก่อน เพียงแต่หากเป็นกรณีรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากต่างประเทศ องค์กร NGO มีหน้าที่ในการรายงานให้นายทะเบียนทราบและนำเงินอุดหนุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น
5. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้อำนาจนายทะเบียนในการควบคุมมากเกินไป กระทรวง พม. ชี้แจงว่าอำนาจของนายทะเบียนในร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งนี้ก่อนการออกคำสั่งใดๆ นายทะเบียนจะต้องดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน เช่น หากจะออกคำสั่งห้ามองค์กรดำเนินกิจกรรมใดๆ นายทะเบียนจะต้องแจ้งกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน (ตามมาตรา 19 และมาตรา 22) หรือหากจะออกคำสั่งยุติการดำเนินงานขององค์กร ก็จะต้องแจ้งเตือนให้องค์กรหยุดหรือแก้ไขก่อน (ตามมาตรา 20 และมาตรา 21) ดังนั้นนายทะเบียนจึงใช้อำนาจในการสั่งยุติการดำเนินการโดยทันทีไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อนายทะเบียนออกคำสั่งใดๆ ไปแล้ว องค์กรยังมีสิทธิในการโต้แย้งอุทธรณ์คำสั่ง และเมื่ออุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาอุทธรณ์ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครองได้ ดังนั้นจึงมีกระบวนการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายโดยกระบวนการภายในฝ่ายปกครองเองและโดยองค์กรตุลาการ ซึ่งเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
โดยเนื้อหาที่ชี้แจงระบุประเด็นไว้ 4 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
1. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีหลักการใน “การควบคุม” การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายนี้ออกแบบวิธีการโดยให้ภาครัฐ “กำกับดูแล” องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ไม่ได้มีลักษณะเป็นการ “ควบคุม” จึงไม่ได้กำหนดให้มีระบบอนุญาต สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้หลีกเลี่ยงการใช้ระบบอนุญาต ทั้งนี้ องค์กรมีเพียงหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ตามมาตรา 19 หน้าที่ในการจัดทำและเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายตามมาตรา 22 หน้าที่ในการไม่ดำเนินกิจกรรมตามมาตรา 20 และหากเป็นองค์กรที่รับเงินบริจาคจากต่างประเทศจะมีหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่มเติมตามมาตรา 21
2. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องมาจดทะเบียนหรือต้องขออนุญาตในการก่อตั้งองค์กร ดังนั้นการรวมกลุ่มตั้งองค์กรจึงสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ จึงไม่ได้ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ การรวมกลุ่มจึงทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดภาระหน้าที่กับประชาชนเกินความจำเป็น
3. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำกิจกรรม กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้องค์กรไม่แสวงหากำไรยังคงมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ดังนั้นในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ขององค์กรจึงไม่ต้องขออนุญาตจากนายทะเบียน โดยภาครัฐจะควบคุมเฉพาะการกระทำที่มีลักษณะเป็นการดำเนินการตามมาตรา 20 เท่านั้น เช่น กิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
4. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค โดยเฉพาะเงินบริจาคจากต่างประเทศ กระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ องค์กรไม่แสวงหากำไรยังคงมีอิสระในการรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาค ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางภาครัฐก่อน เพียงแต่หากเป็นกรณีรับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากต่างประเทศ องค์กร NGO มีหน้าที่ในการรายงานให้นายทะเบียนทราบและนำเงินอุดหนุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์เท่านั้น
5. องค์กรไม่แสวงหากำไรอาจมีประเด็นเข้าใจผิดว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ให้อำนาจนายทะเบียนในการควบคุมมากเกินไป กระทรวง พม. ชี้แจงว่าอำนาจของนายทะเบียนในร่างกฎหมายนี้ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรวจสอบไม่ได้ ทั้งนี้ก่อนการออกคำสั่งใดๆ นายทะเบียนจะต้องดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เสียก่อน เช่น หากจะออกคำสั่งห้ามองค์กรดำเนินกิจกรรมใดๆ นายทะเบียนจะต้องแจ้งกำหนดระยะเวลาให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน (ตามมาตรา 19 และมาตรา 22) หรือหากจะออกคำสั่งยุติการดำเนินงานขององค์กร ก็จะต้องแจ้งเตือนให้องค์กรหยุดหรือแก้ไขก่อน (ตามมาตรา 20 และมาตรา 21) ดังนั้นนายทะเบียนจึงใช้อำนาจในการสั่งยุติการดำเนินการโดยทันทีไม่ได้ นอกจากนี้เมื่อนายทะเบียนออกคำสั่งใดๆ ไปแล้ว องค์กรยังมีสิทธิในการโต้แย้งอุทธรณ์คำสั่ง และเมื่ออุทธรณ์แล้วไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาอุทธรณ์ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครองได้ ดังนั้นจึงมีกระบวนการควบคุมความชอบด้วยกฎหมายโดยกระบวนการภายในฝ่ายปกครองเองและโดยองค์กรตุลาการ ซึ่งเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
คำชี้แจงดังกล่าวดูเหมือนจะสร้างความกระจ่างได้ อย่างไรก็ตาม ข้อปัญหาสำคัญของฝ่ายที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังคงมีอยู่ ซ้ำร้ายการชี้แจงนี้กลับยิ่งทำให้ข้อปัญหามีความชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิม
โดยหนึ่งในข้อปัญหาสำคัญที่กลุ่ม “No NPO Bill” ซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ได้หยิบยกขึ้นมา คือการที่บทนิยามตามมาตรา 3 ได้กำหนดคำนิยามของคำว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ไว้อย่างคลุมเครือ โดยกำหนดว่าหมายความว่า “คณะบุคคลภาคเอกชนซึ่งรวมกลุ่มกันจัดตั้งในรูปแบบใดๆ ที่มีบุคคลร่วมดำเนินงานเพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมโดยไม่มุ่งแสวงหากำไร (แต่ไม่รวมถึงการรวมกลุ่มของคณะบุคคลเพื่อดําเนินกิจกรรมเป็นการเฉพาะคราวหรือดําเนินกิจกรรมเฉพาะเพื่อประโยชน์ของคณะบุคคลนั้น หรือพรรคการเมือง)”
หนึ่งในประเด็นสำคัญของความคลุมเครือนี้คือการที่คำนิยาม “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” (เช่น มูลนิธิ) หรือไม่ มีแต่เพียงระบุว่าเป็น “คณะบุคคล” ซึ่งอาจตีความครอบคลุมถึงการรวมตัวกันของบุคคลได้ทุกรูปแบบ
ยิ่งในคำชี้แจงของกระทรวง พม. ชี้แจงว่าร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้มีระบบอนุญาต ไม่ได้บังคับให้องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องมาจดทะเบียนหรือต้องขออนุญาตในการก่อตั้งองค์กร ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องมีการขอความยินยอมจากภาครัฐในการรวมกลุ่มก่อน แต่ในทางกลับกันก็แสดงให้เห็นว่าโดยเจตนารมณ์ของตัวกฎหมายและกระทรวง พม. ต่างมุ่งหมายที่จะบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กับการรวมกลุ่มใดๆ โดยไม่สนว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ มีการจดทะเบียนหรือขออนุญาตก่อตั้งหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นแล้วการรวมกลุ่มใดๆ ที่มีชื่อระบุได้ขึ้นมาจึงอาจตกอยู่ภายใต้อำนาจของร่าง พ.ร.บ. นี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง (เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มมังกรปฏิวัติ เป็นต้น), กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิชุมชนและการดำรงชีวิต (เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นต้น) หรือแม้กระทั่งกลุ่ม No NPO Bill ที่เคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นี้เอง ก็อาจไม่รอดพ้นเงื้อมมือของร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วยเช่นกัน (หากตีความว่ามีกิจกรรมต่อเนื่องไม่เป็นการเฉพาะคราว)
และเมื่อถามว่าร่าง พ.ร.บ. นี้สามารถใช้บังคับอะไรกับการรวมกลุ่มเหล่านี้ได้บ้าง ขอให้ลองดูมาตราดังต่อไปนี้
มาตรา 19 (วรรค 1) เพื่อประโยชน์แห่งความโปร่งใสและให้ประชาชนได้รับรู้กิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร ให้องค์กรไม่แสวงหากําไรมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับชื่อขององค์กร วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดําเนินงาน แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดําเนินงาน โดยให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย
(วรรค 4) ในกรณีที่นายทะเบียนพบว่าองค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งใดไม่เปิดเผยขอมูลตามวรรค 1 หรือปกปิดข้อมูล ให้นายทะเบียนแจ้งเตือนให้องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งนั้นดําเนินการเปิดเผยข้อมูลภายในเวลาที่กําหนด หรือภายในเวลาที่องค์กรไม่แสวงหากําไรขอผ่อนผันการดําเนินการ หากพ้นกําหนดเวลาแล้วยังมิได้ดําเนินการเปิดเผยให้นายทะเบียนมีอํานาจออกคําสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งนั้นหยุดการดําเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไรจนกว่าจะดําเนินการเปิดเผยข้อมูลตามวรรค 1
มาตรา 20 องค์กรไม่แสวงหากําไรต้องไม่ดําเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
(3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
(4) เป็นการกระทําความผิดต่อกฎหมาย
(5) เป็นการกระทําที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น
ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งใดดําเนินงานอันเป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแจ้งเตือนให้องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งนั้นหยุดการกระทําที่เป็นการฝ่าฝืน หรือให้แก้ไขการกระทําเสียให้ถูกต้อง หากองค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งนั้นยังฝ่าฝืนการแจ้งเตือนของนายทะเบียน ให้นายทะเบียนมีอํานาจออกคําสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากําไรดังกล่าวยุติการดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไร
มาตรา 21 (วรรค 1) องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งใดที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดําเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน จํานวนเงินที่จะได้รับ และวัตถุประสงค์ของการนําเงินไปใช้จ่ายต่อนายทะเบียน
(2) ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากําไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน
(3) ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหลงเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1)
(4) ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดําเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอํานาจรัฐ หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง
(วรรค 4) ให้นําความในวรรค 2 ของมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 22 องค์กรไม่แสวงหากําไรที่มีรายได้จากการรับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไปหรือจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ มีหน้าที่จัดทําบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละรอบปีปฏิทินซึ่งผู้รับผิดชอบดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไรรับรองความถูกต้อง และเปิดเผยบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นให้บุคคลทั่วไปเขาถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย โดยต้องเก็บรักษาบัญชีรายรับรายจ่ายนั้นไว้ให้สามารถตรวจสอบได้เป็นเวลา 3 ปี
ให้นําความในวรรค 2 วรรค 3 และวรรค 4 ของมาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
นั่นหมายความว่าภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ การรวมกลุ่มของประชาชนไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ อาจถูกตีความว่าเป็น “องค์กรไม่แสวงหากำไร” และถูกบังคับให้ต้องเปิดเผยชื่อ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง วิธีดําเนินงาน แหล่งเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดําเนินงาน (ตามมาตรา 19), จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายเก็บไว้ 3 ปี (ตามมาตรา 22), ใช้เงินที่ได้รับจากต่างประเทศ (ถ้ามี) ตามเกณฑ์ที่กำหนด (ตามมาตรา 21) ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เกินกำลังของกลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่จะดำเนินการได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการห้ามดำเนินงานที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบความสงบเรียบร้อย กระทบประโยชน์สาธารณะ เป็นความผิดต่อกฎหมาย กระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น ฯลฯ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่อาจคีความใช้ลิดรอนเสรีภาพขององค์กรไม่แสวงหากำไรและการรวมกลุ่มต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง
และเมื่อดูที่ตัวผู้มีอำนาจดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะพบคำว่า “นายทะเบียน” ที่เป็นผู้มีอำนาจคอยแจ้งเตือนให้องค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินการหรือห้ามทำกิจกรรมต่างๆ ไปจนถึงสามารถออกคําสั่งให้ยุติการดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไรได้ ซึ่งตามนิยามในมาตรา 3 “นายทะเบียน” ที่ว่านี้ก็หมายถึงปลัดกระทรวง พม. และข้าราชการอื่นๆ ที่ปลัดกระทรวง พม. แต่งตั้งนั่นเอง นั่นหมายความว่าการสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินการหรือห้ามกิจกรรมใดๆ หรือสั่งยุติการดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไรนั้นสามารถทำได้ทั้งหมดในชั้นของกระทรวง พม. โดยไม่ต้องขึ้นไปถึงชั้นศาลด้วยซ้ำ (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อปัญหาสำคัญที่กลุ่ม No NPO Bill หยิบยกขึ้นมา) และแม้จะสามารถอุทธรณ์ผ่านกระบวนการภานในกระทรวง พม. และศาลปกครองได้ แต่ก็เพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยากขึ้นมาอีก และในระหว่างอุทธรณ์นี้หากถือว่าคำสั่งมีผลบังคับใช้ ก็เท่ากับว่าในระหว่างอุทธรณ์องค์กรไม่แสวงหากำไรจะไม่สามารถดำเนินการต่างๆ ได้
และหากฝ่าฝืนร่าง พ.ร.บ. นี้ บทกำหนดโทษมาตรา 25 กำหนดให้การไม่หยุดการดําเนินกิจกรรมตามคําสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 19 วรรค 4 หรือมาตรา 22 มีโทษปรับสูงถึง 50,000 บาท และปรับอีกวันละ 1,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และมาตรา 26 กำหนดให้การไม่ยุติการดําเนินงานตามคําสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 20 วรรคสอง หรือมาตรา 21 มีโทษปรับสูงถึง 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
และหากถามว่าการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. กับทั้งองค์กรและการรวมกลุ่มไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะบังคับกับใคร…
มาตรา 24 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าองค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งใดอาจจะกระทําความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจมีหนังสือคําสั่งเรียกให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้
มาตรา 27 ในกรณีที่องค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งใดกระทําความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ให้ผู้รับผิดชอบดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไรแห่งนั้นต้องรับโทษเช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหากําไรด้วย
นั่นหมายความว่าหากมีการรวมกลุ่มใดที่ปรากฏตัวบุคคลผู้ดำเนินกิจกรรมที่สามารถระบุชื่อหรือตัวตนได้แล้ว บุคคลเหล่านั้นจะตกเป็นเป้าหมายถูกบีบให้ต้องดำเนินการหรือห้ามจัดกิจกรรมใดๆ ไปในทันที หากไม่ยอมปฏิบัติตามก็จะถูกฟ้องร้องเพื่อบังคับโทษปรับเสมือนบังคับกับองค์กร (และถ้าหากไม่มีเงินพอจ่ายค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญาก็อาจถูกยึดทรัพย์สินหรือกักขังแทนค่าปรับได้)
สรุปแล้วร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร แม้จะมีความพยายามของกระทรวง พม. ออกมาแก้ต่างให้อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยลดทอนความเลวร้ายลงไปได้เลย หากว่าในอนาคตร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ก็อาจเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้คุกคามต่อการรวมกลุ่มของประชาชนได้อย่างกว้างขวาง จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายนี้ ซึ่งจะเข้าสู่ชั้นของการพิจารณาในรัฐสภาต่อไป