วิชิต ลีธรรมชโย (ซ้าย), เมทินี ชโลธร (ขวา)

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติไม่ต่ออายุวิชิต ลีธรรมชโย ให้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาต่อ ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2565 ที่ตะถึงนี้

โดยมติดังกล่าว อ้างเหตุจากการที่วิชิตเคยไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มราษฎรในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับกรณีของเมทินี ชโลธร อดีตประธานศาลฎีกา ผู้เคยไปร่วมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2556 – 2557 ทว่าในที่ประชุม ก.ต. เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่นั้น กลับมีความพยายามอ้างสารพัดเหตุผลเพื่อแก้ต่างให้กับเมทินี และสุดท้ายก็ได้มีมติ 13 ต่อ 1 ให้เมทินีดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในที่สุด

ตัวอย่างข้ออ้างแก้ต่างที่มีการหยิบยกมา เช่น

นุจรินทร์ จันทร์พรายศรี (ตัวแทนจากศาลฎีกา) ให้ความเห็นว่า “ท่านดูภาพอย่างเดียวซึ่งไม่มีคำอธิบายไม่มีอคติ ท่านเห็นอะไรจากภาพ ดิฉันไม่อาจคาดหมายว่าท่านจะคิดเหมือนดิฉันหรือไม่ เพราะอารมณ์และความรู้สึกอาจจะต่างกันในส่วนของดิฉัน เห็นว่าเป็นการนั่งแบบสบายๆ ชิวๆ ของท่านกับเพื่อนหญิงตรงสนามหญ้า ห่างไกลจากเวทีที่ชุมนุมและมิใช่อยู่ท่ามกลางที่ชุมนุม การแต่งกายที่มิได้บ่งบอกถึงการสนับสนุนหรือเชียร์ฝ่ายชุมนุมหรืออย่างใด”

“จะมีเพียงผ้าพันข้อมือที่เป็นสีธงชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนไทยทั้งชาติที่แสดงออกถึงความจงรักภักดี ต่อชาติ ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่าท่านให้การสนับสนุนฝ่ายที่ชุมนุม ท่านก็อาจเป็นเหมือนประชาชนคนไทยจำนวนมากมายที่อยากรู้อยากเห็นว่าเขาพูดอะไรเป็นเรื่องอะไรที่เข้าไปฟัง บ้างก็นั่ง บ้างก็ยืน ใกล้บ้าง ไกลบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชุมนุมทั่วไป ลักษณะที่ปรากฏจากภาพก็ไม่มีการแสดงให้เห็นว่าท่านสนับสนุน ยุยง ส่งเสริม ให้กําลังใจฝ่ายชุมนุมแต่อย่างใด”

วรสิทธิ์ โรจนพานิช (ผู้ทรงคุณวุฒิบุคคลภายนอก) ให้ความเห็นว่า “ผมกลับมองตรงข้ามกับข่าวที่ออกมาว่าที่จริงสถานการณ์ในวันนั้นเราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตบ้านเมืองเกิดเป็นรัฐที่ล้มเหลว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะมุ่งไปที่รัฐบาล เพราะต้องการให้รัฐบาลมั่นคงขึ้นและทำให้บ้านเมืองมันสงบสุข ท่านจะเห็นว่าไม่มีการชุมนุมครั้งไหนเลยที่มากกว่า กปปส. คือประมาณ 4-5 ล้านคน และผมเชื่อว่าการที่ท่านไปนั้นท่านก็คงไม่ได้ฝักใฝ่ทางการเมือง แต่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตต้องอาศัยผู้คนที่เข้าไปแสดงพลังให้เห็นว่าบ้านเมืองวิกฤติเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นการไปนั้นลักษณะจะเข้าไปดูสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร ว่าเขาทำอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร อีกมุมหนึ่งนั้นการที่ท่านเข้าไปท่านเข้าไปด้วยความรักชาติ รักสถาบัน ผมว่าน่าจะเป็นความสง่างามของผู้พิพากษาด้วยซ้ำไป การที่ท่านเป็นผู้พิพากษาไม่ใช่ว่าท่านไม่รักชาติไม่รักสถาบัน ท่านต้องการแสดงความรักชาติโดยเข้าไปร่วมนั่งฟังการชุมนุม แต่ท่านไม่ได้เป็นผู้นําไม่ได้เป็นแกนนําไม่ได้มีส่วนสนับสนุนอะไรนอกจากการไปนั่งฟังเฉยๆ อันนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะนํามาพิจารณา”

กําพล รุ่งรัตน์ (ตัวแทนจากศาลชั้นต้น) ให้ความเห็นว่า “ผมว่านางเมทินีในฐานะที่ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตามที่ท่านอยากจะเข้าไปดูสถานการณ์บ้านเมือง อยากจะไปรับรู้เหตุการณ์อะไรต่างๆ เพื่อจะให้ได้เห็นสภาวะทางอารมณ์ในสังคมเป็นอย่างไร ผมว่าเป็นเรื่องปกติเพราะวันหนึ่งท่านก็ต้องเป็นผู้บริหารที่เป็นหนึ่งในอำนาจที่เป็นกลไกของรัฐที่จะดำเนินการเกี่ยวกับบริบทหรือบรรทัดฐานในสังคม การที่เป็นผู้พิพากษาและจะไม่รับรู้อะไรเลยผมว่าค่อนข้างที่จะโลกทัศน์แคบ วันหนึ่งต้องมาตัดสินคดีคนต้องมาวางบรรทัดฐานในสังคมโดยที่เขาทำอะไร แล้วเราไม่รู้ ผมว่ามันค่อนข้างที่จะล่อแหลมต่อการให้ความยุติธรรม เพราะฉะนั้นการที่ท่านเข้าไป ก็มองได้ว่าเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป ไม่ได้มองว่าไปสนับสนุน ดูลักษณะการแต่งกายของท่านก็ไม่ได้ มีอะไรบ่งชี้เลยว่าคุณจะเลือกฝ่ายเหลืองหรือฝ่ายแดงอะไร”

ณรัช อิ่มสุขศรี (ตัวแทนจากศาลชั้นต้น) ให้ความเห็นว่า “ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฏว่า นอกเหนือจากภาพถ่ายดังกล่าวแล้วท่านขึ้นไปไฮด์ปาร์กเหมือนกับบางท่านหรือบางคนหรือไม่ หรือมีเหตุการณ์อะไร ที่จะแสดงถึงการฝักใฝ่ทางการเมืองนอกเหนือจากตามภาพ ลำพังเพียงตามภาพ ผมก็เชื่อมั่นว่า คงจะไม่ทำให้ท่านเป็นปัญหาในการที่จะมาเป็นผู้นําหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะฝ่าย กปปส. ที่ยังเป็นความอยู่ตรงนี้นี่เองผมยังเชื่อมั่นกับหลายๆ ท่านที่กล่าวมาว่า ท่านยังสามารถที่จะดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปได้”

DRG เห็นว่าการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นเสรีภาพของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้พิพากษา ทว่าการชุมนุมเรียกร้องการรัฐประหาร ปล้นสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนต่างหากที่ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษาหรือใครก็ตามไม่สมควรกระทำทั้งสิ้น

แต่เมื่อเราได้เห็นกันแล้วว่าวงการตุลาการของประเทศนี้เปรียบดังตาชั่งขึ้นสนิม มีแต่อุ้มชูผู้ที่เห็นดีเห็นงามกับการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตย แล้วจะให้เราคาดหวังได้อย่างไรว่าผู้พิพากษาเหล่านี้จะใช้อำนาจที่พวกเขามีเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชน? แล้วจะให้เราไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือประณามการกระทำของผู้พิพากษาเหล่านี้ได้อย่างไร?

https://www.isranews.org/article/isranews/110687-news-500.html
https://www.the101.world/judicial-neutrality/