เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) มีการพิจารณา “ปรึกษา” ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภาไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 และนายกรัฐมนตรีนำส่งให้กษัตริย์เพื่อลงนามรับรองไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 90 วัน กษัตริย์วชิราลงกรณ์กลับไม่ลงนามร่างกฎหมายดังกล่าวและไม่ได้ส่งกลับมา 

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 146 รัฐสภาจึงต้องประชุมกันอีกครั้งเพื่อมีมติว่าจะยืนยันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวหรือไม่ หากมีมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ก็ให้นำส่งให้กษัตริย์เพื่อลงนามอีกครั้ง และหากกษัตริย์ยังไม่ลงนามอีกภายใน 30 วัน ก็ให้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศใช้ได้เลยโดยไม่ต้องมีลายเซ็นของกษัตริย์ นั่นหมายความว่าแม้กษัตริย์จะไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายใดก็ตาม สภาก็ยังสามารถยืนยันให้ร่างกฎหมายนั้นบังคับใช้เป็นกฎหมายของบ้านเมืองได้

แต่ผลปรากฏว่าในการประชุมรัฐสภาครั้งดังกล่าว ได้มีมติ “ไม่ยืนยัน” ด้วยคะแนนเสียงถึง 431 เสียง ส่วนคะแนน “ยืนยัน” มีเพียง 1 เสียงเท่านั้น ในขณะที่อีก 28 เสียง “งดออกเสียง” และ 1 เสียง “ไม่ลงคะแนน” ซึ่งเป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

การที่กษัตริย์ไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายที่ผ่านสภานั้น แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1. กษัตริย์แสดงความไม่เห็นชอบต่อร่างกฎหมายดังกล่าว และ 2. กษัตริย์ไม่ได้ลงนามภายในเวลาที่กำหนด (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. มาตรา 146 คือ 90 วัน) ซึ่งในกรณีของร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ นั้นเข้าข่ายลักษณะที่ 2

ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่กษัตริย์ไม่ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านสภาเช่นกัน เช่นในสมัยรัชกาลที่ 7 ช่วงปี 2476 – 2477 สภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.อากรมฤดกและการรับมฤดก แต่กษัตริย์ประชาธิปกไม่ยอมลงนามในเวลาที่กำหนด โดยอ้างเหตุผลปรากฏตามบันทึกของรัฐบาลว่าประชาธิปกต้องการให้เพิ่มเติมเรื่องราชทรัพย์ให้แยกออกเป็นราชทรัพย์ส่วนตัวเพื่อไม่ให้ถูกเก็บอากร ในท้ายสุดสภาได้พิจารณาและลงมติยืนยันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วยคะแนน 89 ต่อ 35 เสียง (งดออกเสียง 12) [1]

ต่อมาสภาได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายลักษณะอาชญา, ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขวิธีพิจารณาความอาชญา และ พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาชญาทหาร โดยมีการแก้ข้อกำหนดจากเดิมที่ถูกพิพากษาลงโทษประหารชีวิตนั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากกษัตริย์ก่อนจึงจะนำตัวไปประหารได้ เปลี่ยนเป็นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการนั้นนำตัวไปประหารได้ ณ ตำบลและเวลาที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่ใช่ภายใน 30 วันนับแต่วันพิพากษาถึงที่สุด ทว่ากษัตริย์ประชาธิปกโดยผู้สำเร็จราชการแทนก็ไม่ได้ลงนามรับรองเช่นกัน โดยประชาธิปกได้ส่งโทรเลขอ้างเหตุผลสรุปความได้ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงโบราณราชประเพณี และเห็นว่าประชาชนจำนวนมากย่อมประสงค์จะให้ชีวิตอยู่ในหัตถ์ของกษัตริย์ หากตนลงนามร่างกฎหมายดังกล่าวอาจถือเป็นการละทิ้งอำนาจและภาระที่ประชาชนได้มอบหมายไว้แก่ตน อย่างไรก็ตามสภาได้มีมติยืนยันร่าง พ.ร.บ. ทั้งสามฉบับด้วยคะแนน 75 ต่อ 36 เสียง [2]

นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ 9 ในช่วงปี 2546 ยังมีกรณีของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และร่าง พ.ร.บ.เหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลได้แถลงยอมรับเองว่ามีจุดที่ผิดพลาดในร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่เนื่องจากผ่านสภาแล้ว ตามรัฐธรรมนูญจึงทำได้แค่ส่งให้กษัตริย์ และต่อมากษัตริย์ภูมิพลก็ไม่ได้ลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และสภาก็ลงมติไม่ยืนยันเช่นกันเพื่อให้นำกลับไปแก้ไขใหม่ [3]

จะเห็นได้ว่ากรณีต่างๆ ที่ผ่านมานั้น การที่กษัตริย์ไม่ลงนามรับรองร่างกฎหมายจะมีการชี้แจงเหตุผลต่างๆ ประกอบด้วย ไม่ว่าจะโดยกษัตริย์หรือโดยรัฐบาล เพื่อให้สภาสามารถหยิบยกมาพิจารณาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนว่ายังสมควรที่จะยืนยันร่าง พ.ร.บ. ที่ตนเคยเห็นชอบมาแล้วต่อไป หรือจะเห็นคล้อยตามเหตุผลที่แจ้งมาและไม่ยืนยันร่าง พ.ร.บ. นั้นๆ ทว่าในกรณีของร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ นั้น ตามหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรีที่แจ้งต่อรัฐสภาตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ไม่มีการชี้แจงถึงเหตุผลของการที่วชิราลงกรณ์ไม่ลงนามรับรองในเวลาที่กำหนดเลยแม้แต่น้อย

หนังสือที่สำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งต่อสภา กรณีกษัตริย์วชิราลงกรณ์ไม่ลงนามร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ ในเวลาที่กำหนด

จนกระทั่งถึงวันประชุมสภาเพื่อพิจารณาในวาระดังกล่าวคือ 6 กันยายน 2565 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพิ่งจะออกมายืนยันว่าไม่ได้มีการแจ้งเหตุผลให้รัฐบาลทราบ แต่ก็ยังอ้างว่าได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแล้ว เข้าใจว่าควรต้องมีการปรับปรุงเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากตามที่แก้ในร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วย จึงได้หยุดรั้งรอไว้เพื่อพิจารณาพร้อมกันเสียทีเดียว น่าจะเป็นเหตุผลที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยตามกำหนดเวลา  ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ถือเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น ดังนั้นสภาและประชาชนจึงไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าเหตุผลที่แท้จริงของการไม่ลงนามในเวลาที่กำหนดคืออะไรกันแน่ อาจเป็นไปได้ตั้งแต่วชิราลงกรณ์ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างถึงที่สุด (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ควรแสดงความไม่เห็นชอบออกมาให้ชัด) ไปจนถึงแค่ “ลืมเซ็น” เท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง

และแม้ว่าร่าง พ.ร.บ. นี้จะไม่ได้มีผลกระทบต่อประชาชนเท่าใดนัก แต่การที่รัฐสภาเลือกที่จะมีมติไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวเพียงเพราะกษัตริยไม่ลงนามโดยไม่รู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ หรือสมาชิกบางส่วนก็เลือกงดออกเสียงแทนที่จะลงมติยืนยันให้ชัดแจ้ง เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ให้กับการทำงานขององค์กรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ว่าต่อไปนี้ไม่ว่ากษัตริย์จะไม่รับรองร่างกฎหมายใดๆ เพียงเพราะไม่พอใจในรายละเอียดเล็กน้อยเป็นการส่วนตัว หรือบกพร่องต่อหน้านี้จนลงนามไม่ทันในเวลากำหนด สภาก็จะก้มหน้าก้มตาไม่รับรองกฎหมายเหล่านั้นที่ตนเคยเห็นชอบมาแล้วแท้ๆ โดยไม่คิดจะคัดค้านหรือให้คำนำกลับไปยังกษัตริย์เลย แล้วแบบนี้ประชาชนจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าเรามีผู้แทนราษฎรจริงๆ

DRG ขอเรียกร้องให้รัฐสภายืนยันหลักการประชาธิปไตยและยึดเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้งในการปฏิบัติงาน ถ้ากับกฎหมายฉบับนี้คุณยังทำตัวเป็นสภาใบ้ตรายาง แล้วจะให้เราคาดหวังอะไรได้ เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องแก้ไขเพื่อนำประเทศนี้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง พวกคุณควรถามตัวเองว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกสภาผู้แทนกษัตริย์กันแน่?

https://www.ilaw.or.th/node/6244
[1] ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, “พระราชอำนาจยับยั้งพระราชบัญญัติ”, (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558), น. 144 – 145.
[2] เพิ่งอ้าง, น. 146 – 150.
[3] เพิ่งอ้าง, น. 160 – 162.