ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจสูงสุดจากประชาชนที่แท้จริงไม่ใช่กษัตริย์ แต่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ที่จะต้องยึดโยงกับประชาชนด้วย ในส่วนขององค์กรนิติบัญญัติ หากประเทศประชาธิปไตยประเทศใดกำหนดให้มี 2 สภา นั่นคือมีวุฒิสภาหรือ ส.ว. ด้วย สภาดังกล่าวก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเช่นกัน (หรือหากเป็นกรณีที่สภาดังกล่าวมาจากการแต่งตั้ง ก็ต้องกำหนดให้เป็นสภาที่มีอำนาจน้อยมาก เช่น วุฒิสภาของสหราชอาณาจักร) อำนาจหน้าที่โดยทั่วไปได้แก่การกลั่นกรองร่างกฎหมายที่ริเริ่มมาจากสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่วน ส.ว. กับกษัตริย์นั้นจะมีความสัมพันธ์ทางหน้าที่การงานต่อกันก็ในตอนพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง หรือตอนที่รัฐสภาส่งกฎหมายไปให้กษัตริย์ลงนาม
ทว่าตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่คณะรัฐประหาร คสช. สร้างขึ้นมา กลับกำหนดให้มี ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. เอง รวมถึงมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนกับ ส.ส. ซึ่งเป็นสิ่งที่โดยหลักการประชาธิปไตยไม่มีวันยอมรับได้ และยิ่งภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา ที่ปรากฏว่าพรรคการเมืองร่างทรงของ คสช. และพรรคร่วมนั่งร้านรัฐบาลเก่าต่างพ่ายแพ้พรรคฝ่ายค้านเดิมอย่างชัดแจ้ง ก็เริ่มมีบรรดา ส.ว. ทยอยออกมาแสดงท่าทีราวกับต้องการย้ำเตือนสังคมถึงอำนาจเลือกนายกฯ ที่เผด็จการทหารมอบมาให้กับตัวเอง และที่มากยิ่งไปกว่านั้นอีกคือ ส.ว. บางคนดูจะกระเหี้ยนกระหือรือเหลือเกินที่อ้างอิงสถานะหรือมูลเหตุจูงใจในการใช้อำนาจของตัวเองให้ผูกโยงเข้ากับสถาบันกษัตริย์อย่างออกหน้าออกตา บ้างบอกว่าจะไม่เลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่จงรักภักดี บ้างบอกว่าห้ามแตะต้องมาตรา 112 บ้างบอกต้องสร้างความเข้มแข็งให้ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใครไม่ทำจะไม่ยกมือโหวตให้
เริ่มต้นตัวอย่างกันที่ ส.ว. เสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวในรายการ Today Live เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ความตอนหนึ่งว่า “…ผมไม่ได้ดูหน้าคน ไม่ได้ดูชื่อคนเลย แต่ผมมีเงื่อนไขอันนึงว่าคนที่จะมาบริหารประเทศเป็นผู้นำประเทศ นำพาประเทศไปสู่อนาคตข้างหน้าเนี่ยก็จะต้องยอมรับมีทิศทางในการทำงานเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในหลักการสำคัญสามข้อนี้ ถ้าหากว่ายังมีทิศทางแนวทางที่ปรากฎในช่วงเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบันแล้วก็ยังมาวนเวียนอยู่กับการแก้มาตรา 112 มาปฏิรูปสถาบันอะไรเหล่านี้ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทำในเรื่องเหล่านี้เลย แล้วก็ไปยุยงส่งเสริมเด็ก ไปปลุกปั่นให้แนวคิดจนกระทั่งเด็กต่อต้านสถาบันแล้วก็แสดงความไม่ชอบไม่พอใจผมว่าใจร้ายนะ” “…ผมจะดูว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดในเรื่องเหล่านี้อย่าว่าแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเลย อยู่ประเทศไทยยังไม่ควรอยู่เลย ถ้ายังมีแนวคิดเหล่านี้มาในทางการเมืองนะผมก็ไม่เลือกไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนก็ตาม พรรคไหนก็ได้ถ้าไม่ไปแตะเรื่อง 112 เรื่องสถาบัน ผมเปิดทุกพรรคที่ไม่ไปยุ่งกับเรื่องเหล่านี้…”
ต่อด้วยเจ้าของข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” อย่าง ส.ว. จเด็จ อินสว่าง กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลพร้อมมติตั้งคณะทำงานในระยะเปลี่ยนผ่าน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ยืนยันจุดยืนว่าตนเองจะไม่ลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล เพราะยังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 พร้อมทั้งเสนอไปที่กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม ว่าทางที่ตอบโจทย์คือจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ให้แต่ละพรรคนำข้อดีมาร่วมกันทำงานเพื่อความเข้มแข็งของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อีกทั้งเมื่อถูกถามในประเด็นนโยบายพรรคก้าวไกลว่ามีลุงไม่มีเรา ส.ว. จเด็จกล่าวว่า “…คิดแบบนั้น จะไม่มีคุณ ไม่มีผม ไม่มีเรา…”
ถัดมาที่ ส.ว. พรทิพย์ โรจนสุนันท์ โพสต์ข้อความใน Twitter ส่วนตัวเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 เนื้อความตอนหนึ่งว่า “…หมอต้องการความชัดเจนว่าเมื่อเป็นรัฐบาลคุณจะทำอะไรอย่างไรต่อนโยบายสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะนโยบายตอนหาเสียงสมาชิกพรรคพูดและแสดงออกคือการทำลาย ต้องไม่ลืมหลักธรรมะแห่งพุทธ การกระทำของเราเกิดจากตัวเรา เสียดายที่การเรียนวิชาประวัติศาสตร์หายไป แถมเรียนในสภาพแวดล้อมที่เน้นวัตถุพัฒนากิเลส บางคนไปเรียนแต่เมืองนอก จึงไม่เคยทราบความจริงที่ไม่มีในสังคมโซเชียล…” และยังโพสต์ข้อความใน Instagram ส่วนตัวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ความตอนหนึ่งว่า “…ในฐานะ ส.ว.หรือในฐานะคนไทย แม้นโยบายที่พรรคก้าวไกลเสนอก่อนเลือกตั้งจะยังไม่ได้ถูกตกลงหรือเปิดเผยให้สังคมได้เห็นว่า เมื่อต้องเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นจะปรับนโยบายเป็นอย่างไร หลายอย่างเป็นสิ่งดีถ้าทำได้ เป็นสิ่งที่การเมืองก่อนหน้าไม่เคยทำสำเร็จ แต่นโยบายที่ต้องไม่แตะคือ การทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหา 10 ข้อที่หาเสียงคงมาจาก ‘นายทุนความคิด’ ที่จัดทำมาให้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเกลียดความแค้น ความต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์…”
และปิดท้ายด้วยคนที่ออกตัวแรงสุด ส.ว. คนแรก กิติศักดิ์ รัตนวราหะ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คุยข่าวนอกจอ” ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 เนื้อความตอนหนึ่งว่า “…ตนมองว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีพฤติกรรมต่างๆ ที่หากเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันฯ นิรโทษกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขณะนี้กระแสการจงรักภักดีของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมมากที่จะเข้ากรุงเทพฯ เพราะเห็นว่าบ้านเมืองกำลังจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วยกันคือ ‘ไทยฆ่าไทย’…”
ส.ว. เหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงที่บิดเบี้ยวต่อระบอบประชาธิปไตยอันเกิดจากการรัฐประหารในปี 2557 แทนที่จะตระหนักในขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ควรมีของตัวเองตามหลักการประชาธิปไตย กลับเสนอหน้ามากะเกณฑ์ว่าผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องดำเนินนโยบายอย่างไร เพียงเพราะตัวเองมีอำนาจเลือกนายกฯ ที่คณะรัฐประหารมอบให้ โดยทำตัวราวกับเป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบันกษัตริย์ที่ซึ่งทุกวันนี้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ห่างไกลจากระบอบประชาธิปไตยมาก ทำตัวเป็นมาตรวัดความจงรักภักดีประหนึ่งตัวเองเป็นสถาบันกษัตริย์เสียเอง ผูกขาดความเป็นเจ้าของประเทศชาติไว้แต่ตน
ทำไมมาตรา 112 จะยกเลิกไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ในเมื่อมันเป็นกฎหมายที่มีปัญหา ล้าหลัง ละเมิดสิทธิมนุษยชน? นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสภาของประชาชนต้องตัดสินใจ ไม่ใช่ผู้แทน คสช. แบบ ส.ว. ทั้ง 250 คน ทำไมจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถ้าคณะรัฐประหารขยายพระราชอำนาจจนเกินกว่าหลักการประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ? นั่นเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรและเป็นหน้าที่ของสถาบันกษัตริย์ด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ถึงถูกหยิบยกมาอ้างอยู่ร่ำไปทั้งๆ ที่จุดประสงค์ของการแอบอิงของคนกลุ่มนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของเผด็จการ อำนาจที่เห็นคนไม่เท่ากัน อำนาจที่จะเอื้อให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถกินตำแหน่ง เงินเดือนจากภาษีประชาชนโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีที่ไปที่มายึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด?
นั่นก็เพราะตัวสถาบันกษัตริย์เองก็ไม่เคยแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าคัดค้านพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ ยังพยายามลอยตัวแล้วปล่อยให้ผู้แอบอิงนำสถาบันกษัตริย์ไปใช้โจมตี ทำร้าย ลิดรอนผู้อื่น ซึ่งนั่นไม่ใช่การปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ไม่ใช่การพิทักษ์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ถ้ายังปล่อยให้มีการแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในทางการเมืองแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้ว ก็ไม่แปลกที่สังคมจะตั้งข้อกังขาว่าสถาบันกษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ เป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดว่าคนเราเท่าเทียมกัน
https://siamrath.co.th/n/451065
https://www.matichon.co.th/politics/news_4007967
https://workpointtoday.com/todaylive-vote-pm/
https://siamrath.co.th/n/448649
https://www.thaipost.net/hi-light/380782/