“คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมากๆ เราจำได้ ขอบคุณมากๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมากๆ”

“ใช่ไหม คนนี้”

“ใช่ คนเดียวถือป้าย”

“กล้ามากๆ เก่งมาก ขอบใจ”


“ทรงพระเจริญครับ รักในหลวงมากๆ ทรงพระเจริญ”

“ขอบใจมาก ขอบใจ”

“อูย เป็นบุญของผมมากๆ ครับ ทรงพระเจริญ หาที่สุดไม่ได้”

“ขอบคุณนะคะ เราก็ภูมิใจที่คุณทำมาก ขอบคุณมาก”

“กล้ามาก ขอบใจมาก”

23 ตุลาคม 2563 วันนี้ของเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ระหว่างเดินทางกลับจากการทำบุญในโอกาสครบรอบวันเสียชีวิตของกษัตริย์จุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ 5 วชิราลงกรณ์ รัชกาลที่ 10 กษัตริย์คนปัจจุบัน พร้อมด้วยสุทิดา ภรรยาเอกคนปัจจุบัน ได้เข้าพบปะกลุ่มคนผู้ยึดถืออุดมการณ์กษัตริย์นิยมที่มาเฝ้ารอระหว่างทาง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงใกล้ชิดกษัตริย์คนนี้ได้ ราวกับต้องการแสดงให้เห็นถึงความเป็นกันเอง

ในเหตุการณ์นี้เองที่วชิราลงกรณ์และสุทิดาได้กล่าวชื่นชมชายคนหนึ่งว่ากล้ามาก เก่งมาก และขอบใจในการกระทำของเขา ดังบทสนทนาที่เขียนไว้ข้างต้น

ชายคนดังกล่าวมีชื่อว่า “ฐิติวัฒน์” โดยวีรกรรมที่นำมาซึ่งคำชมจากกษัตริย์และราชินี ได้แก่การที่เขาไปยืนถือรูปของอดีตกษัตริย์ภูมิพล รัชกาลที่ 9 และอดีตราชินีสิริกิติ์ บนถนนปิ่นเกล้า เพียงหนึ่งเดียวท่ามกลางขบวนผู้ชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในครั้งนั้น ฐิติวัฒน์ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ฝากถึงผู้ปกครองที่ดูแลน้องๆ เขาอยู่ ให้ช่วยดูแลบุตรหลานด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้มาทำแบบนี้”

แสดงให้เห็นถึงทัศนคติคัดค้านการชุมนุมประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเห็นว่าผู้ปกครองต้องห้ามมิให้เยาวชนในความดูแลของตนออกมากระทำการเช่นนี้ ทั้งที่นี่คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองที่บุคคลแต่ละคนพึงมีพึงกระทำโดยมิต้องอยู่ใต้อาณัติของใคร

และในอีกเกือบ 1 ปีหลังได้รับคำชม เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 มีรายงานกรณีของ “ประสงค์” ที่ถูกจับกุมตัวในข้อหามาตรา 112 จากการแชร์ข้อความบนเฟซบุ๊ค และต่อมาถูกศาลสั่งฝากขังและไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม อีกทั้งในขณะนั้นมีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 เป็นจำนวนมาก แต่สุดท้ายประสงค์ก็ยังถูกขังอยู่ในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 กว่าจะได้ปล่อยตัวก็เมื่อตอนยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 4 รวมระยะเวลาที่ถูกขังถึง 27 วัน

ซึ่งปรากฏว่าบุคคลที่เป็นผู้แจ้งความมาตรา 112 ต่อประสงค์จนถูกจับขังนานเกือบเดือนนั้น ก็คือฐิติวัฒน์ ผู้ได้รับคำชมจากกษัตริย์และราชินีนั่นเอง

การแสดงออกผ่านสื่อของวชิราลงกรณ์และสุทิดาถึงความใกล้ชิดกับประชาชน (ที่เข้าข้างตัวเอง) เมื่อ 1 ปีก่อน ด้วยกล่าวชื่นชมฐิติวัฒน์ ผู้ซึ่งแสดงทัศนคติต่อต้านการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ย่อมทำให้เห็นว่าการจะปฏิรูปตัวเองนั้นมีอยู่ในความนึกคิดของทั้งสองคนนี้บ้างหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน? และนั่นคงเป็นเหตุที่ทำให้ในคืนเดียวกันนั้นในโลกทวิตเตอร์พร้อมใจกันติด hashtag #23ตุลาวันตาสว่าง

ส่วนการที่ฐิติวัฒน์กลายมาเป็นผู้ใช้มาตรา 112 เล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมืองในเวลาต่อมานั้น ก็น่าคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะได้รับขวัญกำลังใจจากผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “พระเจ้าอยู่หัว” ของเขา จนคิดว่าที่ทำลงไปนั้นถูกต้องแล้ว อย่างนั้นหรือไม่?

https://www.bbc.com/thai/thailand-54671840
https://www.nationtv.tv/news/378802020
https://prachatai.com/journal/2021/07/93894
https://prachatai.com/journal/2021/07/93947
https://prachatai.com/journal/2021/08/94311
https://prachatai.com/journal/2020/10/90111