รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นผลิตผลจากการรัฐประหาร ที่บังคับให้ประชาชนต้องอยู่ในภาวะจำทนต่อระบอบเผด็จการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 นั้น เป็นเพียงฉากหน้าที่ช่วยอำพรางความเป็นเผด็จการของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ และเพื่อสร้างข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความชอบธรรม เพราะได้ผ่านการประชามติของประชาชนมาแล้ว โดยละเลยความจริงที่ว่า การประชามติครั้งนั้นไร้ซึ่งเสรีภาพที่จะแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา และที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ และเกิดความไม่เป็นธรรมอีกหลายกรณี อีกทั้งเมื่อผ่านพ้นการประชามติไปแล้ว รัฐบาลเผด็จการของคณะรัฐประหารก็ยังหน่วงเวลาการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกไปอีก ทำให้การเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ช้าตามกันออกไปอีกหลายปี ซึ่งในระหว่างนั้นเกิดการแก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญหลังการประชามติตามมาอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกโดยศาลรัฐธรรมนูญ และอีกครั้งหลังการผลัดเปลี่ยนรัชสมัย กษัตริย์องค์ใหม่มีข้อสังเกตพระราชทานลงมา ให้แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ องคาพยพของคณะรัฐประหารก็ตอบรับ จึงเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังประชามติในหมวดที่ 1 บททั่วไป และหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ และมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลคณะรัฐประหารไม่เคยเห็นหัวประชาชน เมื่อการได้มาซึ่งอำนาจอันไม่ชอบธรรมผ่านการรัฐประหาร เผด็จการเหล่านี้จึงพยายามสร้างข้ออ้างถึงความชอบธรรมผ่านการประชามติที่หลอกลวง ไม่จริงใจ ประชาชนจำนวนมากหวังใจว่า เมื่อผ่านพ้นทุรยุคไปได้ และมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว จะเกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้คืนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนั้นให้แก่ประชาชนอีกครั้ง
ความหวังนั้นปรากฏขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคฝ่ายค้านที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาตลอดในยุคของเผด็จการ และชูธงนโยบายร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนอย่างแท้จริง สามารถกำชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นของประชาชนเริ่มใกล้ความจริง แต่กระนั้นด้วยพิษร้ายจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านมาทางวุฒิสภา ก็ขัดขวางการตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย และก่อให้เกิดการสลับข้างย้ายขั้ว จนเกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคนั่งร้านเผด็จการกลับเข้าไปมีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ถึงอย่างนั้นประชาชนจำนวนมากก็ยังหวังใจว่าแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ครั้งหนึ่งเป็นพรรคที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน จะยืนหยัดหลักการเหล่านี้ว่าวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จะเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทย
หลังการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จไม่นาน ภาคประชาชนคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงรณรงค์ภายใต้ชื่อ “Con For All เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการทำประชามติเพื่อเปิดทางไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่อย่างแท้จริง ด้วยคำถามที่ว่า
โดยในครั้งนั้นเป็นวาระเร่งด่วนของประชาชน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าวาระเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นวาระแรกของคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชนจึงต้องรวบรวมรายชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก แต่แล้วก็เกิดอุปสรรคอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าการเข้าชื่อเสนอการประชามตินั้น ต้องลงด้วยลายมือชื่อเท่านั้น ไม่สามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ด้วยเวลาที่เหลือน้อย ภาคประชาชนช่วยกันตั้งจุดลงชื่อ และรวบรวมรายชื่อมาได้กว่า 211,904 รายชื่อ เสนอทันการประชุมนัดแรกของคณะรัฐมนตรี แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร เมื่อวาระแรกที่รัฐบาลว่านั้น ถูกเตะถ่วงออกไปเกือบปี คำถามประชามติที่ประชาชนรวบรวมมานั้นดูเหมือนไม่มีความหมายในสายตาของรัฐบาล เมื่อมีการตั้ง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีธงเอาไว้แล้วว่าคำถามประชามตินั้นจะระบุเรื่องไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 และมีแนวโน้มด้วยว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก็อาจไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
วันที่ 23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงถึงความคืบหน้าในการประชุมคณะรัฐมนตรี และมีมติว่าจะมีการประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งคำถามประชามติจะใช้คำถามที่เสนอโดยคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ระบุคำถามว่า
ซึ่งเป็นคำถามที่สร้างข้อขัดแย้ง และทำให้เสียงของประชาชนที่ลงมติไปนั้น ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน การเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อคำถามนี้สามารถตีความได้หลายประการ ประชาชนที่มีเจตนารมณ์อื่น ๆ ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งที่ในระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐบาลนี้ตั้งขึ้น ภาคประชาชนได้เสนอทางออกของการประชามติไปหลายครั้ง แต่ก็ถูกเมินเฉยจากรัฐบาลเสมอมา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการประชามติครั้งนี้ กำลังจะกลายเป็นการประชามติที่ไม่จริงใจอีกครั้งหนึ่ง
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในฐานะภาคประชาชนที่ร่วมรณรงค์ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% รู้สึกผิดหวังต่อท่าทีของรัฐบาลครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงขอเสนอข้อสังเกต และแนะนำดังนี้
- เมื่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน คำถามประชามติรัฐธรรมนูญจึงต้องทำหน้าที่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือ ลักษณะคำถามควรเปิดกว้าง ไม่ระบุสิ่งที่จะกลายเป็นข้อจำกัด หรือสิ่งที่ต้องตีความหมายของการออกเสียงประชามติของประชาชน เพื่อให้เสียงประชามติของประชาชนนั้น สะท้อนความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง โดยคำถามที่ขอเสนอคือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
- ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แต่ละครั้ง แม้แต่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ก็ไม่เคยจำกัดว่าในส่วนใดห้ามแตะต้องหรือแก้ไข ซ้ำร้ายยังมีการแก้ไขให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญทำลายประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เมื่อรัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง และกล่าวว่ายึดมั่นในประชาธิปไตย มีหัวใจคือประชาชน ก็ควรทะนงตน และให้อำนาจการกำหนดเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของประชาชนเต็มที่
- กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ต้องเป็นประชาธิปไตย โดยกำหนดให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะรัฐมนตรีจะทบทวนมติ และกำหนดคำถามประชามติที่เปิดกว้าง คำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญกว่านี้
ด้วยความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และประชาชน
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
24 เมษายน 2567