โดย “ร่มสายน้ำ”

ในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงพลังงานที่เชื่อมโยงถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างมาก หลังจากที่บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 63.79% โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 51.11% อีกทีโดยกระทรวงการคลังของรัฐบาลไทย) ประกาศซื้อหุ้นเพิ่มและเข้าเป็นผู้ดำเนินงานในโครงการยาดานา เนื่องมาจากการถอนการลงทุนของ TotalEnergies บริษัทพลังงานจากรายใหญ่จากฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาต่อประชาชนตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ซึ่งทางบริษัทด้านพลังงานที่มีส่วนร่วมในการลงทุน เช่น Total และ Chevron ได้ออกมาประกาศเมื่อปลายเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา 

แหล่งข่าวหลายสำนักระบุว่า ปตท.สผ. จะเข้าทำการควบคุมการดำเนินงานในแหล่งก๊าซยาดานา บริเวณอ่าวเมาะตะมะ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แหล่งก๊าซสำคัญในเมียนมาที่ ปตท.สผ. เข้าร่วมลงทุน (อีก 2 แห่ง ได้แก่ แหล่งเยตากุนและแหล่งซอติก้า) แทน Total ในวันที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยอ้างถึงความต่อเนื่องการบริโภคด้านพลังงานเป็นหลัก

ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในโครงการยาดานาจะถูกส่งขายให้กับ ปตท. ในฐานะผู้จัดหาพลังงาน ซึ่งก๊าซในส่วนนี้ราว 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตจะถูกส่งผ่านท่อก๊าซจากฝั่งเมียนมาเข้ามายังฝั่งไทย ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าทั้งขนาดใหญ่และเล็ก จำนวน 12 โรง และถูกแปลงเป็นไฟฟ้าสำหรับใช้ในประเทศไทย ส่วนอีก 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตจะถูกใช้ในเมียนมา

อนึ่ง ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้ามากถึง 59% (ตัวเลขเมื่อปี 2564) โดยในสัดส่วนนี้ ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมากินพื้นที่วัตถุดิบเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าไป 14% แบ่งเป็นก๊าซจากโครงการยาดานา 9% โครงการเยตากุน 0.2% และโครงการซอติก้า 5% ที่บริษัทพลังงานไทยเข้าไปลงทุน ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้า LNG และการผลิตจากแหล่งขุดเจาะภายในประเทศ โดยโครงการยาดานานั้นทาง ปตท.สผ. รวมถึง Total และ Chevron ได้เข้าไปดำเนินโครงการมากว่า 30 ปี ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งสัมปทานในโครงการนี้กำลังจะหมดในอีก 3-4 ปีข้างหน้านี้

(ทั้งนี้ยังมีข้อสงสัยว่าการที่บริษัท Unocal บริษัทลูกของ Chevron ยังคงมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการยาดานา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ออกมาประกาศเป็นล่ำเป็นสันว่าจะถอนการลงทุนออกไปด้วยเหตุผลเดียวกันกับ TotalEnergies ทั้งที่ทางสหรัฐอเมริกาเองก็มีการประกาศคว่ำบาตรกิจการที่เกี่ยวข้องกับคณะเผด็จการทหารเมียนหลายกิจการ ตรงนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าสรุปแล้วทางบริษัทคำนึงถึงสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดกับประชาชนเมียนมาแค่ไหน)

การถอนการลงทุนของบริษัทลูกของ Total ในครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทร่วมทุน Moattama Gas Transportation Company (MGTC) เพื่อดำเนินโครงการยาดานา โดย Unocal จะขยับไปถือหุ้น 41.1% เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของโครงการ ตามมาด้วย ปตท.สผ. อยู่ที่ 37.1% (จากเดิมถือหุ้น 25.5%) และ MOGE ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจก๊าซและน้ำมันของเมียนมา ถืออยู่ที่ 21.8% 

นับเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่งเมื่อดูจากที่ทาง ปตท.สผ. อ้างไว้ในการแถลงข่าวบนเว็บไซต์ตอนหนึ่งว่า “บริษัทมีความตระหนักว่าการเข้าถึงพลังงานอย่างเสมอภาคถือเป็นสิทธิมนุษยชน” คำอธิบายเช่นนี้ดูจะสวนทางอย่างมากต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเมียนมา เนื่องจากภาคประชาสังคมในเมียนมาได้เรียกร้องให้บริษัทร่วมทุนทั้ง Total, Chevron รวมถึง ปตท. ระงับการจ่ายเงินซื้อก๊าซจากเมียนมา เพราะเงินที่ได้จากโครงการเหล่านี้ได้กลายเป็นหม้อข้าวใบใหญ่ที่กองทัพเผด็จการทหารเมียนมาสามารถนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ซื้ออาวุธ แปลงเป็นกระสุนและลูกระเบิดปราบปรามประชาชนจนเกิดวิกฤตสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมที่ล่วงเลยมากว่า 1 ปีแล้ว

นับแต่เผด็จการทหารเมียนมานำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา ประชาชนเมียนมาในทุกพื้นที่ได้ออกมารณรงค์ให้บรรดาบริษัทต่างชาติที่เข้าลงทุนในเมียนมาถอนการลงทุนออกไป ไม่ยุ่งเกี่ยวหรือประกอบกิจการร่วมกับกลุ่มบรรษัทที่มีกองทัพหรือครอบครัวนายทหารเมียนมาเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อป้องกันให้เกิดการสร้างความมั่งคั่งให้กับกองทัพ ซึ่งก็ได้มีบริษัทต่างชาติหลายรายถอนตัวออกไปหรือไม่ก็ระงับโครงการชั่วคราวอยู่เช่นกัน

แม้เดิมทีโครงการยาดานาจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายกองทัพ แต่ ณ ปัจจุบันนับแต่การยึดอำนาจของกองทัพ บริษัท MOGE ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะเผด็จการทหารไปเรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ประชาชนในหลายพื้นที่จึงได้ออกมารณรงค์ให้บริษัทที่ลงทุนในโครงการระงับการส่งเงินค่าก๊าซให้กับ MOGE ไปก่อน เนื่องจากเงินเหล่านี้จะเป็นทุนทรัพย์ให้กับกองทัพพม่านำไปใช้ซื้ออาวุธปราบปรามประชาชนที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร

ไม่ใช่แค่ประชาชนเมียนมา แต่เมื่อปีที่แล้ว องค์กรภาคประชาสังคมของไทยและเทศพยายามเรียกร้องให้ ปตท.สผ. ระงับการจ่ายเงินค่าก๊าซโครงการยาดานาให้กับ MOGE อยู่เป็นระยะ แต่ดูเหมือนจะไม่มีการกระเตื้องจากยักษ์ใหญ่พลังงานไทย มีแต่จะมุ่งหน้าเร่งจัดหาวัตถุดิบมาป้อนให้กับระบบไฟฟ้าที่มีผู้ซื้อรายเดียว คือ กฟผ. ทั้งที่ในความเป็นจริงพลังงานสำรองไฟฟ้าของไทยก็กระโดดพุ่งไปถึงกว่า 40-50% เกินความจำเป็นในการบริโภคไปมาก (กำลังไฟฟ้าสำรองที่ควรจะเป็นนั้นไม่ควรเกิน 15%) ซึ่งแน่นอนว่ากำลังไฟฟ้าสำรองที่เกินมานั้นเกิดจากปัญหาในการวางแผนนโยบายด้านพลังงานของไทยที่ผู้กำหนดนโยบายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแบบพุ่งทะยาน แต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนในทางเศรษฐกิจและโรคระบาดชี้ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาคิดผิดมหันต์ แต่ถึงกระนั้นโรงไฟฟ้าใหม่ๆ การสร้างกำลังการผลิตใหม่ๆ ก็ยังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการมีไฟฟ้าสำรองมากเกินความต้องการใช้นั้นกลายเป็นภาระของเราประชาชนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ของไฟฟ้าส่วนเกินที่เพิ่มเข้ามาในระบบจากการวางแผนนโยบายไฟฟ้าที่เป็นอยู่

ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกทำให้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพง ส่งผลให้ต้นทุนราคาสินค้าพุ่งสูง หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการด้านไฟฟ้าควรจะเอากำลังไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่มาชดเชยการใช้งานในเวลานี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประชาชนที่จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Take or Pay) ในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ FT ผ่านใบเสร็จค่าไฟฟ้า ที่ขณะนี้ก็กำลังถูกปรับราคาขึ้นเป็นหน่วยละ 4 บาท เห็นได้ว่าการใช้ไฟฟ้าจากก๊าซในเมียนมาเองนอกจากจะส่งผลสร้างความมั่งคั่งให้กับกองทัพเมียนมาจนสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเมียนมาแล้ว ชาวไทยเองก็จ่ายค่าไฟ (ที่ส่วนใหญ่ผลิตจากก๊าซ) แพงขึ้นด้วย ลองพิจารณากันดูว่ามีใครอีกบ้างที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้นอกจากกองทัพเมียนมา

นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องตระหนักที่จะรู้ว่าก๊าซที่ถูกแปลงเป็นไฟฟ้าที่พวกเรากำลังใช้อยู่นั้นพวกเราต้องแบกรับค่าไฟที่แพงขึ้นด้วยเหตุผลอะไร และมีสิทธิจะรู้ด้วยว่ารายจ่ายค่าไฟฟ้าจะถูกแปลงเป็นอาวุธที่ไว้ใช้ปราบปรามประชาชนเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ที่ยืนเคียงข้างประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

โครงการก๊าซธรรมชาติส่งผลต่อความมั่งคั่งต่อกองทัพเมียนมาอย่างมาก เม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีถูกส่งเข้ากระเป๋าของรัฐ โดยรายได้ในส่วนนี้มีผลต่อเงินสำรองแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเมียนมามากถึง 50% ทำให้กองทัพเมียนมาได้เงินจากตรงนี้ไป ถ้าสามารถตัดหรือระงับเงินในส่วนนี้ได้ อย่างน้อยเงินในการซื้ออาวุธของกองทัพเมียนมาอาจจะลดน้อยลง ทั้งยังเป็นการปกป้องชื่อเสียงของบริษัทสัญชาติไทยให้พ้นจากความเกี่ยวข้องกับคณะเผด็จการรัฐประหาร นับเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยในระยะยาวและเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนชาวเมียนมาในอนาคตด้วย 

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมภาคประชาสังคมเมียนมาและไทย รวมถึงในระดับโลกถึงไม่เรียกร้องให้ทางบริษัทที่เกี่ยวข้องในโครงการถอนการลงทุนออกไปเสียเลยตั้งแต่แรก แต่ให้งดหรือระงับการจ่ายเงินแทน นั่นก็เพราะถ้าถอนการลงทุนไป ในอนาคตก็จะมีบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาดำเนินการต่ออยู่ดี ถอนไป เงินก็ยังไหลผ่านบริษัท MOGE เข้ากระเป๋ากองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้การระงับบัญชีของ MOGE โดยนำรายได้ทั้งหมดเก็บไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาหรือบัญชีที่ได้รับการปกป้อง (escrow account) เพื่อให้กองทัพเมียนมาไม่สามารถนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ได้ในช่วงนี้จึงน่าจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด จนกว่ารัฐบาลที่มีความเป็นประชาธิปไตยได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชนจะกลับเข้ามาบริหารประเทศ 

และหากดูกลไกในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนของไทยแล้ว นอกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่มีบทบาทการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยก็ยังมีหน่วยงานอย่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) อันเป็นผลพวงจากการที่ไทยไปรับหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights) จากเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ณ เวทีสหประชาชาติ (Universal Periodic Review – UPR) ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี โดยแผนนี้ประกาศใช้ไปเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งแม้จะไม่มีภาระผูกพันทางกฎหมายหรือเป็นการบังคับใช้ไปยังภาคเอกชนหรือภาครัฐ แต่ในเมื่อเรามีกลไกเช่นนี้แล้วก็ควรนำมาใช้ในการควบคุมกำกับการลงทุนทั้งทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเป้าหมายหลักของแผนนี้คือการเป็นเครื่องมือสำหรับกำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยต้องดำเนินการลงทุนอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงในประเทศ แต่รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศด้วย เนื่องจาก 1 ใน 4 ประเด็นที่แผนนี้ให้ความสำคัญคือ “การลงทุนในต่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ” ซึ่งบริษัทต่างๆ ที่ขยายการลงทุนและสร้างโครงการใหญ่ๆ ในต่างประเทศต้องคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกจากกลไกดังกล่าวแล้วก็ยังมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) ที่บริษัทต่างๆ ก็ดูให้ความสำคัญเป็นพิเศษผ่านรายงานความยั่งยืนที่จัดทำ (กันเอง) ทุกปี ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนเองก็ถูกให้ความสำคัญในเป้าหมายของ SDG ด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะบอกว่าธุรกิจต่างๆ ของตนนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น การที่ทางบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของเราบอกว่าการเข้าถึงพลังงานก็เป็นสิทธิมนุษยชนเช่นกันนั้นดูจะผิดฝาผิดตัวเมื่อพิจารณาถึงการกระทำที่อำมหิตของกองทัพเมียนมาต่อประชาชน คงจะเป็นแค่วาทกรรมยืมคำตามกระแสโลกที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันเพียงเท่านั้น หากบริษัทยังคงมองไม่เห็นหรือไม่ให้ความสำคัญแก่สิทธิมนุษยชนอีกด้านหนึ่งที่กำลังถูกทำลายอยู่ในขณะนี้กว่า 1 ปีแล้ว

ทั้งนี้ใช่ว่าที่ผ่านมาตลอดเกือบ 3 ทศวรรษที่โครงการยาดานาริเริ่มขึ้นจะไม่มีปัญหาในด้านสิทธิมนุษยชนเลย เพราะตลอดช่วงการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างท่อก๊าซสำหรับลำเลียงก๊าซที่ขุดเจาะได้จากแหล่งยาดานาได้สร้างผลกระทบต่างๆ ในพื้นที่ที่ท่อก๊าซพาดผ่าน ทั้งในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพเผด็จการทหารเมียนมาในขณะนั้น โดยได้มีการบังคับไล่รื้อและยึดที่ดินจากประชาชนในชุมชน การบังคับใช้แรงงาน รวมไปถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่การก่อสร้างท่อก๊าซในครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทหาร หลังการปราบปรามประชาชนในปี 1988 ที่เมียนมาจะต้องหันไปพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติในรูปการให้สัญญาสัมปทานในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ด้วยความที่ประเทศเมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารจึงทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่มีสิทธิในการออกมาเรียกร้องและใช้สิทธิของตนเองในการต่อต้านและแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยในการดำเนินโครงการในขณะนั้น

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นของการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก็ได้ออกมาประท้วงการยึดอำนาจของกองทัพพร้อมทั้งเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับโครงการระงับการจ่ายเงินในโครงการให้กับกองทัพที่ผ่านทาง MOGE ไปจนถึงเรียกร้องให้พนักงานหลายคนของโครงการเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) ด้วย

รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ระบุว่าจนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2565 ผ่านมากว่า 1 ปี หลังเกิดการรัฐประหาร มีประชาชนพลเรือนชาวเมียนมากว่า 1,687 คนที่เสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพเผด็จการทหารเมียนมา และรวมผู้ถูกจับกุมไปแล้วกว่า 4,381 ราย นอกจากนี้การปะทะกันระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) และกองกำลังชาติพันธุ์ได้ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในทั่วประเทศแล้วกว่า 500,000 คน

นี่เป็นสภาพความเป็นจริงเพียงส่วนหนึ่งที่องค์กรภาคประชาสังคมพอจะบันทึกไว้ได้ ความป่าเถื่อนของเผด็จการทหารเมียนมาที่กระทำต่อประชาชนนั้นยังคงดำเนินต่อไปในทุกเมื่อเชื่อวัน และทวีความรุนแรงมากขึ้น

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการนองเลือดประชาชนโดยกองทัพเมียนมา บริษัทร่วมทุนในโครงการยาดานา และผู้รับซื้อก๊าซอย่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ควรหาช่องทางในการระงับการจ่ายเงินในช่วงนี้ออกไป ดังที่ภาคประชาชนเมียนมาร้องขอ ซึ่งนี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าการจัดหาพลังงานด้วยการเข้าควบคุมการดำเนินการแหล่งก๊าซดังกล่าวนี้เองก็เป็นการให้ความสำคัญถึงสิทธิมนุษยชน รวมถึงมนุษยธรรมอีกด้านหนึ่งด้วยเช่นกัน

https://www.pttep.com/en/Newsandnmedia/Mediacorner/Pressreleases/Changeofoperatorintheyadanaprojectinmyanmar.aspx
https://ejatlas.org/conflict/yadana-gas-field-and-pipeline-myanmar
https://www.tcc.or.th/electronicbill/?utm_source=FB&utm_medium=urllink_post18mar2022&utm_campaign=ElectronicBill_news
https://etowatch.com/2021/05/20/76-ภาคประชาสังคม-ไทย-เทศ-ร่/
https://www.justiceformyanmar.org/stories/how-oil-and-gas-majors-bankroll-the-myanmar-military-regime 
http://www.eppo.go.th/epposite/index.php/th/energy-information/static-energy/static-gas?orders[publishUp]=publishUp&issearch=1