หนึ่งใน “ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ” บริเวณถนนราชดำเนินนอก โดยในช่วงแค่ 4 เดือนแรกของปี 2564 กทม. จ่ายเงินเพื่อการเทิดพระเกียรติลักษณะนี้ไปแล้ว 33.4 ล้านบาท

22 พฤษภาคม 2565 จะเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) อีกครั้ง หลังจากที่คนกรุงไม่มีโอกาสได้เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นสูงสุดมาเป็นเวลากว่า 9 ปี (การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2556 โดยผู้ได้รับการเลือกตั้งคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร ส่วนผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ถูกแต่งตั้งโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.)

และในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ที่ดูจะมีความคึกคักมากเป็นพิเศษ หนึ่งในประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในการประชันวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคน (แม้จะไม่ได้ถูกพูดถึงโดยตรง) นั่นคือประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เชื่อมโยงมาถึงผู้ว่าฯ กทม. DRG จึงถือโอกาสนี้ขอกล่าวถึงอำนาจ ภารกิจ งบประมาณ ไปจนถึงสิ่งที่ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ควรคาดหวังได้จากผู้ว่าฯ ของเขาในประเด็นดังกล่าว

เริ่มตั้งแต่เรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจโดยตรงอย่างเต็มที่แน่ๆ อย่างเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณของ กทม. เอง ในเรื่องดังกล่าวเคยมีผู้ใช้เฟซบุ๊คชื่อ “พูติกาล ศายษีมา”/“Saiseema Phutikarn” สืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของ กทม. พบว่าเพียงแค่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2564 กทม. ในยุคของ พล.อ.อัศวิน มีการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการ “เทิดทูนสถาบันกษัตริย์” ไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 33.4 ล้านบาท เช่น
– ปรับปรุงซุมเฉลิมพระเกียรติ 32 ซุ้ม, สร้างเพิ่ม 7 ซุ้ม 14 ล้านบาท
– สร้างซุ้มประตูเมืองเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระบรมราชาภิเษก 2 ซุ้ม 10.6 ล้านบาท
– ซื้อไม้ดอกไม้ประดับปรับภูมิทัศน์เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล 2.5 ล้านบาท
– ติดไฟประดับถนนราชดำเนินเนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล 1.8 ล้านบาท
– จัดทำพร้อมติดตั้งภาพฉายาลักษณ์บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 2.53 ล้านบาท
– ซื้อไม้ดอกไม้ประดับปรับภูมิทัศน์เนื่องในโอกาสวันเกิดราชินีสุทิดา 2 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เกี่ยวกับการก่อสร้างหรือปรับปรุงซ่อมแซมต่างๆ ในพื้นที่ส่วนตัวของกษัตริย์และราชวงศ์ แต่มาให้ กทม. เป็นผู้ใช้จ่าย เช่น
– งานก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่เขตพระราชฐานในพระองค์ฯ 904 (ราชวิถี) ประกอบด้วยงานทุบถนนเก่าและสร้างถนนใหม่ โดย “วิธีเฉพาะเจาะจง” (เจรจากับผู้ประกอบการรายเดียว) เมื่อปี 2563 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 90.53 ล้านบาท
– ซื้อต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ และวัสดุอุปกรณ์ สำหรับปรับภูมิทัศน์ที่เรือนประทับของสิริวัณณวรี โดยวิธีเฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกัน เมื่อปี 2563 เป็นจำนวนเงิน 11.11 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าโครงการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์หลักเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสถาบันกษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นการยกยอชื่อเสียง หรือการอำนวยความสะดวกสบายภายในพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่เงินงบประมาณที่ใช้จ่ายนั้นมาจากภาษีประชาชน แต่ประชาชนโดยรวม หรือแม้กระทั่งชาวกรุงเทพฯ เองกลับไม่ได้ร่วมรับประโยชน์นั้นอย่างที่ควรได้รับ (หากนำเงินเหล่านี้ไปใช้พัฒนาเมืองในด้านอื่นๆ) หรือแม้จะอ้างว่าเป็นการกระจายรายได้ ก่อให้เกิดการจ้างงาน ก็ยังถือเป็นการให้ประโยชน์กับบุคคลแค่บางคนบางกลุ่มเท่านั้น (ยิ่งโดยเฉพาะการใช้ “วิธีเฉพาะเจาะจง” ยิ่งน่าสงสัยถึงความเป็นธรรมในการกระจายรายได้นี้) 

ทั้งนี้ยังไม่นับว่าโครงการและงบประมาณที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ค้นพบในช่วงเวลาสั้นๆ หากนับเวลากว่า 5 ปีที่ พล.ต.อ.อัศวินเข้ามา อาจมีโครงการลักษณะนี้อีกเป็นจำนวนมาก ใช้เงินไปอีกเป็นจำนวนมาก และยังไม่นับว่าในปีงบประมาณล่าสุด (2565) ส่วนราชการในพระองค์มีงบประมาณของตัวเองอยู่แล้วเป็นจำนวนถึง 8,761 ล้านบาท และยังมีงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งหมดรวมกันถึง 35,760 ล้านบาท

ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ควรพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานของตนในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างเหมาะสมคุ้มค่าแล้วหรือไม่ สมควรตัดออกเพื่อเอาเงินไปเพิ่มให้กับงานด้านอื่นที่จำเป็นกว่า หรือไม่ อย่างไร ที่คือสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจและสามารถทำได้ทันที

เรื่องต่อมาซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ชาวกรุงเทพฯ มีโอกาสสัมผัสในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด นั่นคือเรื่องของขบวนเสด็จ ที่ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติภารกิจ หรือจะเป็นการทำธุระส่วนตัวหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย การเดินทางของกษัตริย์และราชวงศ์ก็มักมีขบวนรถติดตามและการปิดถนนที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรเป็นอัมพาตอยู่เสมอ

เรื่องนี้แม้มีข้อกล่าวอ้างว่าไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากขบวนเสด็จมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นกรุงเทพฯ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือชาวกรุงเทพฯ ผู้เป็นฐานเสียงของคนเป็นผู้ว่าฯ กทม. นั่นเอง จึงไม่ผิดอะไรที่ชาวกรุงเทพฯ จะคาดหวังจากพ่อเมืองของพวกเขาให้ช่วยหาทางแก้ปัญหาด้วย

ซึ่งในเรื่องนี้ “พูติกาล ศายษีมา”/“Saiseema Phutikarn” ได้โพสต์ข้อมูลเช่นกันถึงกรณีตัวอย่างในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่กษัตริย์วชิราลงกรณ์และราชินีสุธิดาเดินทางประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง พระประธานพระวิหาร วัดมหาวนาราม ปรากฏว่าขบวนเสด็จเคลื่อนผ่านเส้นทางไปได้โดยไม่จำเป็นต้องปิดถนนทั้งเส้น แม้กระทั่งในตัวเมืองบนถนนเส้นเล็กที่ไม่มีเกาะกลาง ก็ยังสามารถเปิดให้รถยนต์ทั่วไปขับสวนทางกับขบวนเสด็จได้

ดังนั้นจึงควรเป็นที่คาดหวังได้ว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีความคิดริเริ่มที่จะไปประสานงานกับทางหน่วยงานในพระองค์และตำรวจนครบาล เพื่อหาทางลดผลกระทบจากขบวนเสด็จให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เป็นการเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้ท้องถนนและร้านรวงสองข้างทางมากจนเกินไป ตลอดไปจนถึงเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบเมื่อจะต้องมีขบวนเสด็จแต่ละครั้งด้วย

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ด้วยความที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่รวมศูนย์ความเจริญในทุกๆ ด้านของประเทศไทย ถึงที่สุดแล้วกรุงเทพฯ จึงยังคงเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยภาคประชาชน ซึ่งรวมไปถึงการชุมนุมประท้วง และรวมถึงกิจกรรมที่ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ผู้ว่า กทม. จะสามารถส่งเสริมหรือพิทักษ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนได้แล้ว นั่นก็ถือเป็นหน้าที่ที่ผู้ว่า กทม. พึงกระทำเช่นกัน เช่น การสนับสนุนสาธารณูปโภคในพื้นที่ชุมนุม/จัดกิจกรรม การไม่ปิดกันพื้นที่ในความรับผิดชอบของ กทม. ไม่ให้ใช้เป็นพื้นที่ชุมนุม/จัดกิจกรรม การเจรจากับหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้การชุมนุมลุล่วงไปได้โดยไม่เกิดภยันตราย ฯลฯ จริงอยู่ว่าผู้ชุมนุมหรือจัดกิจกรรมเหล่านั้นอาจมาจากจังหวัดอื่น ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่การที่ผู้ว่า กทม. นิ่งเฉยไม่ยอมทำในสิ่งที่ตนมีอำนาจทำได้เหล่านี้ ก็ไม่ต่างจากเป็นส่วนหนึ่งของการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนเช่นกัน

DRG หวังว่าผู้ใดก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่า กทม. จะมองเห็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เชื่อมโยงถึงมหานครแห่งนี้ และแสดงความเป็นผู้นำแก้ปัญหาทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตัวเอง และที่ควรร่วมไม้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ได้ อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องคอยหาทางแก้กันเองเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนที่หยิบยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาพูดและเรียกร้องให้แก้ไข ก็ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีกันไปนับร้อยนับพันคนแล้ว

https://www.facebook.com/saiseema.p/posts/3142485242733648
https://prachatai.com/journal/2021/08/94506
https://www.facebook.com/saiseema.p/posts/3130693253912847