4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบแนวทางการยกร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2565 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ออกแถลงการประณามทุกองคาพยพที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ที่เรียกว่าเป็น “กฎหมายควบคุมและยึดอำนาจประชาชน”เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ. นี้ออก รวมถึงเรียกร้องให้พรรคการเมืองแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. นี้

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ออกแถลงการที่มีเครือข่าย NGO 1,867 องค์กรเข้าร่วม ประณามร่าง พ.ร.บ. นี้ที่เป็นความพยายามของรัฐบาลในการใช้ระบบราชการอำนาจนิยมมาควบคุมประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น เห็นประชาชนเป็นภัยคุกคามมากกว่าเป็นหุ้นส่วน บ่อนทำลายประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง

ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความพยายามยกร่างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย และเห็นได้ชัดว่านี่คืออีกหนึ่งลูกไม้ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในการจะ “ตัดตอน” องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาคัดค้านรัฐบาลตลอดมา โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดการดำเนินงานของ NGO เช่น จะต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม อาจถูกตีความให้กิจกรรมของ NGO ที่มีเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล หรือนำเสนอประเด็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ถูกตีความว่ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ร่างกฎหมายนี้ห้าม และถูกอ้างเพื่อใช้เอาผิดกับ NGO นั้นๆ ได้ หรือที่กำหนดให้ NGO ที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศ ต้องไม่ใช้เงินนั้นเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ก็ยังคลุมเครือว่าเป็นอย่างไร เพราะการกระทำที่ไปเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองนั้นอาจตีความได้กว้างขวาง เช่น การทำข้อมูลหรือแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบายแบบเดียวกับที่พรรคการเมืองเสนอต่อสังคม ก็อาจถูกตีความให้กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองได้ หรือที่กำหนดให้ NGO ต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้หน่วยงานรัฐเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งรวมถึงรายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ก็คลุมเครือเช่นกันว่า “ผู้รับผิดชอบดำเนินงาน” นั้นหมายถึงใครบ้าง เพราะโดยปรกติ NGO ต่างๆ ก็มักจะมีการเปิดเผยชื่อตัวแทนขององค์กรต่อสาธารณะอยู่แล้ว หากความหมายตามร่างกฎหมายนี้หมายถึงให้เปิดชื่อคนทำงานใน NGO นั้นๆ ทั้งหมด ก็น่ากังวลว่านั่นจะกลายเป็นรายชื่อสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐไว้ติดตามคุกคามคนทำงาน NGO ในชีวิตส่วนตัว เหมือนอย่างที่ชอบติดตามคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองหลายๆ คนหรือไม่


ที่ผ่านมา NGO หลายองค์กรมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์การรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ อย่างในประเด็นเรื่องกฎหมายและสิทธิเสรีภาพก็จะเห็นองค์กร NGO อย่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คอยทำงานข้อมูล รณรงค์กฎหมายและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมี NGO อีกนับพันนับหมื่นองค์กรที่ทำงานในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หากวันหนึ่งองค์กรเหล่านี้เกิดไปมีเรื่องขัดแข้งขัดขารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจขึ้นมา ก็อาจต้องกลายเป็นเหยื่อของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้

ภายหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ติดตามต่อไป

ดูเพิ่มเติม

https://resolution.soc.go.th/?prep_id=405439

https://prachatai.com/journal/2022/01/96727

https://prachatai.com/journal/2022/01/96721