27 มิถุนายน 2475 ภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตยเพียง 3 วัน คณะราษฎรก็ได้ตรารัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศขึ้น (ฉบับแรกจริงๆ ไม่ใช่ฉบับ 10 ธันวาคม ที่เอามาตั้งเป็นวันหยุด ซึ่งมีความพยายามดึงอำนาจกลับสู่กษัตริย์มากขึ้น) ในชื่อ พระราชบัญญัติธรรมนูญแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2475 นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้กลายเป็น “นิติรัฐ” คือมีกฎหมายจำกัดกรอบอำนาจของฝ่ายผู้ปกครองไม่ให้ล้นฟ้า
แม้เนื้อหาหลายส่วนจะเก่าแก่ตามกาลเวลา แต่ก็มีอีกหลายส่วนเช่นกันที่เป็นการวางรากฐานของหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เช่น
– การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจออก พ.ร.บ. ทั้งหลาย ที่แม้กษัตริย์ไม่เห็นพ้องด้วย แต่หากสภาลงมติยืนตามมติเดิมของตัวเองแล้ว ก็ให้มีอำนาจออกประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
– การกำหนดให้มีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร (รัฐบาล) หรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้ (เปรียบได้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ)
– การกำหนดให้ ส.ส. ไม่ต้องรับผิดในถ้อยคำที่ได้กล่าวหรือแสดงความเห็นในที่ประชุม (ซึ่งก็คือหลักเอกสิทธิ์เพื่อคุ้มครองให้ ส.ส. แสดงความเห็นได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกลัวถูกเอาผิด)
– การกำหนดให้สภาเป็นผู้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์ของสภา
– และที่ขาดไม่ได้คือการทยอยให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และยิ่งเมื่อไปดูในหมวด 1 ข้อความทั่วไป และหมวด 2 กษัตริย์ จะพบว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวยืนยันถึงหลักการ “กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ” ไว้อย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา และหนักแน่นยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญในระยะหลัง (รวมถึงฉบับปัจจุบัน พ.ศ. 2560) เสียอีก เช่น
– กำหนดให้ผู้ที่จะใช้อำนาจแทนราษฎร (ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศ) ตามรัฐธรรมนูญได้แก่ กษัตริย์, สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการราษฎร (รัฐบาล) และศาล การระบุเช่นนี้มีนัยยะแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์เป็นเพียงองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้ (เช่น ลงนามใน พ.ร.บ.) โดยฐานะแล้วจึงเท่าเทียมกับสภา, รัฐบาลและศาล ไม่ได้เป็นเจ้าเหนือหัวอย่างที่พยายามยกให้เป็นทั้งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และสมัยปัจจุบัน
– กำหนดให้การสืบมรดกของกษัตริย์ นอกจากเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลแล้ว ยังต้องผ่านความเห็นชอบของสภาด้วย เป็นการย้ำว่าตำแหน่งสำคัญอย่างกษัตริย์นั้นจะให้มีเพียงการแต่งตั้งรัชทายาทหรือสืบสายเลือดกันเองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากผู้ที่ได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนไม่ได้
– แม้จะกำหนดว่ากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ แต่ก็กำหนดด้วยว่าให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย แสดงให้เห็นว่าแม้กษัตริย์จะไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการศาลทั่วไป แต่หากมีกรณีพิพาทที่กษัตริย์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะตัดขาดจากความรับผิดชอบทั้งปวงไปเลยได้ โดยจะต้องมีผู้ที่ยึดโยงกับประชาชนนั่นคือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาข้อพิพาทแทน นอกจากนี้ยังไม่มีการยกยอว่ากษัตริย์ต้องเป็นที่เคารพสักการะ จะล่วงละเมิดมิได้ด้วย เนื่องจากกษัตริย์ก็เป็นผู้ที่ใช้อำนาจที่อาจกระทบต่อประชาชนได้เช่นกัน หากสภาหรือรัฐบาลยังสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ฉันใดแล้ว กษัตริย์ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ฉันนั้นด้วย
– กำหนดให้การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ ต้องมีกรรมการราษฎร (รัฐมนตรี) ผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วยโดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร (รัฐบาล) จึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นให้เป็นโมฆะ หรือก็คือการที่กษัตริย์จะใช้อำนาจใดๆ นั้นต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลด้วยนั่นเอง เพราะกษัตริย์เป็นองค์กรที่มีที่มาจากการแต่งตั้งและสืบสายเลือด ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจใหญ่หลวงนั้นได้เท่ากับผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ผิดกับในปัจจุบันที่ปล่อยให้กษัตริย์สามารถใช้อำนาจหรือแสดงออกทางการเมืองได้โดยปราศจากการควบคุม
เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แม้จะมีการระบุถึงอำนาจต่างๆ ของกษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำเสมือนว่ากษัตริย์ก็ยังอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้วจะเห็นว่าการระบุนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อจำกัดอำนาจเลย กลับเป็นการถวายอำนาจให้อย่างมากล้นแล้วมาเขียนรับรองไว้ เช่นการให้กษัตริย์มีส่วนราชการของตัวเองไว้บริหาร (ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน) ได้ตามอัธยาศัย หรือการยกยอสถานะให้ต้องเป็นที่เคารพสักการะอย่างที่ไก้กล่าวถึงไป เหล่านี้ทำให้แม้จะมีรัฐธรรมนูญอยู่ แต่ก็เป็นเสมือนแผ่นกระดาษที่มีกษัตริย์เหยียบอยู่ข้างบนเท่านั้น ในความเป็นจริงกษัตริย์กลับมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญไปแล้ว
การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการเขียนเนื้อหารัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับกษัตริย์ขึ้นใหม่ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และหากเราสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับกษัตริย์ชัดเจนหนักแน่นเหมือนกับในรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 นี้ได้ การยังคงสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยก็อาจเป็นไปได้
อ่านรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF