นับตั้งแต่คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) ออกแถลงการณ์ใน #ม็อบ31ตุลา64 เรียกร้องต่อคณะตุลาการให้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนออกมาจากเรือนจำ และต่อรัฐสภาให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112

ก็ปรากฏปฏิกิริยาตอบรับจากหลากหลายพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ไปจนถึงบุคคลสำคัญๆ ในภูมิทัศน์การเมืองไทย โดยในส่วนของพรรคการเมืองก็ได้แก่

– พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่าพร้อมนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ การสั่งการของรัฐบาล รวมถึงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าต่อมา ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์แสดงความเห็นว่าที่ผ่านมาตัวมาตรา 112 ไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง)

– พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่าการที่พรรคการเมืองหลายๆ พรรคมาร่วมแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากเป็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้กลไกทางการเมืองแก้ปัญหา และก่อนหน้านี้พรรคเคยเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ต่อสภา (แต่ไม่ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระ)

– พรรคพลังประชารัฐ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค กล่าวว่าจุดยืนของพรรคคือสถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่ต่อไป ไม่เอาด้วยกับการแก้มาตรา 112 อย่างแน่นอน

– พรรคประชาธิปัตย์, รวมพลังประชาชาติไทย, กล้า ไม่แก้มาตรา 112 เช่นกัน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ยังรอดูท่าทีต่อไป

ทั้งนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่แสดงจุดยืนไปถึงขั้นสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) กรีดแขนเป็นข้อความ “112” พร้อมขีดฆ่า เพื่อแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ หลังการอ่านแถลงการ ครย.112 ใน #ม็อบ31ตุลา64 (ภาพ: นพเก้า คงสุวรรณ)

มาตรา 112 คือหนึ่งรูปธรรมที่ตอกย้ำว่ารัฐไทยมองคนไม่เท่ากัน ในขณะที่ผู้ใช้อำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี, สมาชิกรัฐสภา, เจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ยังสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่หรือการใช้อำนาจได้โดยทั่วไป (อาจจะยกเว้นศาล ที่ถือเป็น “อวิวัฒนาการ” สถานะตัวเองให้เริ่มเป็นอย่างเดียวกับกษัตริย์เข้าไปเรื่อยๆ) แต่เมื่อเป็นกรณีของกษัตริย์และวงศ์วานแล้ว กลับมีกฎหมายพิเศษที่โทษสูงเป็นอย่างยิ่ง เขียนมาเพื่อกำราบไม่ให้มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ต่อกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะ

มาตรา 112 จึงเป็นปัญหาแน่ๆ เพราะโดยตัวมันเองย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยในมาตรฐานของอารยประเทศ ที่องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐย่อมต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนได้เสมอ ซึ่งวิธีการพื้นฐานที่สุดของการตรวจสอบก็ได้แก่การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้กระทั่งด่าทอเมื่อองค์กรเหล่านั้นใช้อำนาจในทางที่ผิด ดังนั้นสมควรที่กฎหมายมาตราดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิก หากจะยังป้องกันการหมิ่นประมาทก็ให้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเดียวกันกับบุคคลทั่วไป โดยมีบรรทัดฐานในการตีความกฎหมายที่เหมือนกันกับกรณีอื่นๆ

DRG ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ในวันนี้ได้เริ่มแสดงจุดยืนว่าจะแก้ปัญหาจากมาตรา 112 แล้ว ขอให้พิจารณาไปอีกขั้นหนึ่งว่าแท้จริงแล้วมาตรา 112 มีปัญหาโดยตัวของมันเองที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และยกระดับจุดยืนของตัวเองให้เท่ากับจุดยืนของภาคประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องกันมายาวนาน ถูกจับกุมคุมขังกันไปตั้งมากมาย เพื่อที่จะนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าวผ่านกระบวนการของรัฐสภา ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนสัมฤทธิ์ผลได้

ส่วนพรรคใดที่ยังยืนกรานที่จะเหนี่ยวรั้งสังคมไทยไว้ด้วยกฎหมายอันล้าหลังเช่นนี้ ก็ขอเตือนไว้ว่าจุดยืนของพวกท่านในวันนี้จะทำให้พวกท่านไม่มีที่ยืนในวันหน้า วันที่ประชาชนชาวไทยไม่เอาอีกแล้วกับการปิดปากพวกเขาไม่ให้เรียกร้องเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

https://www.facebook.com/ThammasatUFTD/posts/403974194744040
https://www.facebook.com/pheuthaiparty/posts/4854486987917534
https://www.facebook.com/thaksinofficial/posts/1851716131679596
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6708220
https://www.thairath.co.th/news/politic/2234061
https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2889273531365520
https://workpointtoday.com/politics-law112/