วันนี้ (6 ตุลาคม 2564) เป็นวันครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 19 อันโหดเหี้ยมอำมหิตในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารกว้างไกล และผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าที่เคยเป็นมา กล้าตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจมากกว่าที่เคยทำกันมา สังคมได้รับรู้เรื่องราวของ 6 ตุลามากขึ้น ว่าโศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่ได้มาจากแค่ชนวนของการปลุกปั่นของสื่อขวาจัดต่อกรณีละครแขวนคอ ที่ใส่ร้ายว่าเป็นการมุ่งร้ายต่อรัชทายาทวชิราลงกรณ์ (ตำแหน่งขณะนั้น) เพียงเท่านั้น
สถาบันกษัตริย์มีบทบาทมากกว่านั้น ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา มีเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่อีกครั้ง นั่นคือการได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศของ “สามเณร” ถนอม กิตติขจร ที่เคยถูกโค่นล้มในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แล้วมาเข้ารับการอุปสมบทเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2519 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่ประทับของพระภูมิพโล หรือกษัตริย์ภูมิพลเมื่อครั้งออกบวช โดยมีพระอุปพระอุปัชฌาย์คือพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) ซึ่งเคยเป็นพระอภิบาลของพระภูมิพโล ต่อมาในวันที่ 23 กันยายน กษัติรย์ภูมิพลและราชินีสิริกิติ์ได้มาเยือนวัดบวรฯ โดยสิริกิติ์ได้กล่าวผ่านคนรับใช้ด้วยว่าขอให้ประชาชนช่วยป้องกันอย่าให้คนใจร้ายมาเผาทำลายวัด
และเมื่อหลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ขึ้นแล้ว ก็ปรากฏข่าวว่าโอรสธิดาของภูมิพลและสิริกิติ์ คือวชิราลงกรณ์และสิรินธร ยังเดินทางไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่ลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังสำคัญที่ยกพวกไปไล่ล่าสังหารนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา อันที่จริงลูกเสือชาวบ้านนั้นก็เป็นกองกำลังที่อยู่ในราชานุเคราะห์ด้วย หรืออย่างกลุ่มนวพลที่เป็นอีกกลุ่มสำคัญในการไล่ล่าสังหาร ก็มี พล.ท.สำราญ แพทยกุล องคมนตรีผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ เป็นสมาชิกหมายเลข 001
และภายหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จบลงด้วยการรัฐของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ถัดมาเพียง 2 วันหลังจากนั้น ในวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ก็ออกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มโทษจากเดิมสูงสุดไม่เกิน 7 ปี เปลี่ยนเป็นตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี หรือเท่ากับเพิ่มโทษขั้นสูงขึ้นกว่า 2 เท่า กลายเป็นมาตรา 112 แบบเดียวกับที่ใช้ทำลายล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองนับร้อยนับพันชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน
สถาบันกษัตริย์จึงเกี่ยวข้องอย่างแน่นอนกับเหตุการณ์อันน่าอัปยศนี้ ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในขณะนั้น และสร้างมรดกแห่งการปิดปากให้สืบทอดต่อมายังทุกวันนี้ ดังนั้นหากจะต้องทำอะไรเพื่อคืนความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และยกเลิกมาตรา 112 คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
https://doct6.com/learn-about/how
https://www.facebook.com/ThammasatUFTD/posts/387978833010243
https://www.komchadluek.net/today-in-history/295991
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/A/134/46.PDF