***กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ขอเชิญชวนประชาชนทุกท่านร่วมติดตามการจัดนิทรรศการ “UNLIMITED MONARCHY” และการนำเสนอข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโอกาสต่อไป โดยหากท่านใดสนใจให้เราไปร่วมจัดนิทรรศการด้วย สามารถติดต่อได้โดยส่งข้อความเข้ามาที่เพจ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group – DRG หรือเพจ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน | ครช.***

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG) เป็นกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด ไม่มีสถาบัน องค์กร หรือหน่วยงานใดครองอำนาจเหนือประชาชนอย่างแท้จริง นับตั้งแต่การก่อตั้งขึ้นในปี 2560 เราได้ร่วมเรียกร้องให้คณะรัฐประหาร คสช. จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นโดยเร็วที่สุด และนับตั้งแต่การชุมนุมขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2563 เราได้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์และนำเสนอข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา DRG ร่วมกับคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดทำนิทรรศการ “UNLIMITED MONARCHY” ที่อาคารจัดแสดง KINJAI CONTEMPORARY (ใช้พื้นที่ร่วมกับนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ” ของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา) บอกเล่าถึงการขยายราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ดำเนินไปอย่างมีนัยสำคัญภายหลังจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการขึ้นครองราชย์ของวชิราลงกรณ์ กษัตริย์คนปัจจุบัน โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ส่วน ดังต่อไปนี้

1. กองทัพ

นิทรรศการส่วนนี้นำเสนอถึงการสอดประสานกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกองทัพที่เป็นมาโดยตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะในรัชกาลที่ 10 ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ที่มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ในสมัยที่คณะรัฐประหาร คสช. ยังปกครองประเทศ มีผลเป็นการจัดตั้ง “หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์” ที่ก่อตั้งขึ้นจากการให้โอนอํานาจหน้าที่และอัตรากำลังพลส่วนหนึ่งจากกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้กลายมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ มีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อกษัตริย์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกษัตริย์มีอำนาจสั่งซ้ายหันขวาหันต่อนายทหารและนายตำรวจเหล่านี้ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มากไปกว่านั้นในปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ออก พ.ร.ก. ให้โอนอัตรากำลังพลของกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 ซึ่งเดิมอยู่ในสังกัดกองทัพบก กระทรวงกลาโหม ไปอยู่ในหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ด้วย ทำให้ในปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุดในปีงบประมาณ 2566) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีกำลังพลเป็นจำนวนถึง 7,696 คน เปรียบเทียบแล้วเกือบเท่ากับจำนวนของ ตชด., หน่วยคอมมานโด, ตำรวจ, กลุ่มกระทิงแดง, นวพล, ลูกเสือชาวบ้าน ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 (ประมาณ 8,000 คน) ซึ่งนำเสนอผ่านหุ่นทหารจำนวนมากภายในซุ้มนิทรรศการ

และนอกจากกำลังพลใต้บังคับบัญชาโดยตรงของกษัตริย์แล้ว เหล่าทัพในสังกัดกระทรวงกลาโหมยังมีการรวบรวมนายทหารที่มั่นใจได้ว่าพร้อมที่จะเชื่อฟังกษัตริย์อย่างถึงที่สุด ผ่านการฝึกพิเศษในหลักสูตรของหน่วยใหม่ที่ชื่อว่า “หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904” (ฉก.ทม.รอ.904) หรือที่เรียกกันว่า “ทหารคอแดง” ตามเสื้อยืดขลิบคอสีแดงที่นายทหารเหล่านี้ได้สวมใส่ ตัวอย่างทหารคอแดงคนสำคัญ เช่น พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รองเลขาธิการพระราชวังและอดีต ผบ.ทบ., พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน รวมถึงรอง ผบ.ทบ., ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งมีโอกาสได้เลื่อนขั้นเป็น ผบ.ทบ. ในอนาคต

อ้างอิง:
– ข้อมูลอัตรากำลังพลที่ส่วนราชการในพระองค์ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
https://doct6.com/archives/13587
https://www.youtube.com/watch?v=svF4BxqJMZc

2. งบประมาณ

นิทรรศการส่วนนี้นำเสนอถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยเฉพาะนับภายหลังจากการจัดตั้ง “ส่วนราชการในพระองค์” (ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นมา โดยมีการโอนกิจการมาจากหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่เดิม รวมไปถึงงานประเภทที่เรียกว่า “ถวายความปลอดภัย” ภายในกระทรวงกลาโหมและ สตช. แต่แทนที่จะเป็นการผ่องถ่ายงบประมาณจากหน่วยงานเดิมมายังหน่วยงานใหม่ ปรากฏว่างบถวายความปลอดภัยในหน่วยงานเดิมกลับยังเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ในขณะที่ตัวส่วนราชการในพระองค์เองก็เพิ่มงบประมาณขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยมีแผนภูมิข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปีงบประมาณ 2559 ก่อนมีส่วนราชการในพระองค์ งบของหน่วยงานเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์รวมถึงงบถวายความปลอดภัยรวมแล้วอยู่ที่ 6,603 ล้านบาท ทว่าในปีงบประมาณ 2563 เฉพาะงบส่วนราชการในพระองค์ก็สูงถึง 9,814 ล้านบาทแล้ว และถ้ารวมงบถวายความปลอดภัยในกระทรวงกลาโหมและ สตช. ด้วย จะสูงถึง 13,530 บาท นอกจากนี้ยังมีงบของการ “เทิดทูน” “เฉลิมพระเกียรติ” หรือ “สร้างจิตสำนึก” ต่อสถาบันกษัตริย์ ปีละประมาณ 400 – 900 ล้านบาท, งบ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวง” (การก่อสร้างในเขตพระราชฐาน) ปีละ 800 – 2,000 ล้านบาท หรืองบเกี่ยวกับอากาศยานราชพาหนะ ปีละ 1,600 – 5,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของงบสถาบันกษัตริย์กับงบทั้งประเทศ (โดยใช้ปี 2557 เป็นฐาน) พบว่าในปี 2563 งบสถาบันกษัตริย์นั้นเพิ่มสูงถึง 249% (2.5 เท่า) ของงบเมื่อปี 2557 ในขณะที่งบทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 126% เท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเปรียบเทียบว่าหากปรับลดงบสถาบันกษัตริย์ลงครึ่งหนึ่ง ( 7,500 ล้านบาท) จะสามารถนำเงินไปใช้จ่ายกับเรื่องอื่นที่อาจเป็นสวัสดิการหรือผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้มากน้อยเพียงใด เช่น อาจนำไปเป็นค่าเรียนฟรีของเด็กถึง 1 ล้านคน, เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึง 5.7 ล้านคน หรือเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถึง 6 แสนคน เป็นต้น

อ้างอิง
– เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 – 2566
https://thaipublica.org/2021/02/national-education-accounts02/
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand/posts/4466437566756098
https://www.dop.go.th/enai/faq/view=967

3. การศึกษา

นิทรรศการส่วนนี้นำเสนอในส่วนของระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยแสดงให้เห็นถึงการครอบงำของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการศึกษาของไทย ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น การบรรจุค่านิยม 12 ประการไว้ในหลักสูตรการศึกษา แบบเรียนและตำราที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของสถาบันกษัตริย์ที่ใช้ศึกษาในห้องเรียน รวมถึงรูปภาพของชาติ ศาสนา สถาบันกษัตริย์ที่ติดไว้ในห้องเรียนโดยทั่วไป โดยล้วนแล้วแต่ให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งดีงานที่นักเรียนจำเป็นต้องเคารพรัก 

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนั้นก็เริ่มมีการตั้งคำถามกับตัวของสถาบันกษัตริย์มากยิ่งขึ้นผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งตำราวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงกระแสการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่เมื่อปี 2563 ทำให้เห็นว่าสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เริ่มมีการตั้งคำถามกับสิ่งที่พวกเขาถูกปลูกฝังมาในระบบการศึกษาตั้งแต่เด็ก นิทรรศการจึงนำเสนอภาพเหล่านี้เพื่อสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ขัดแย้งกันของสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับสิ่งที่การศึกษาพยายามปลูกฝังให้กับเด็กในสังคมไทย

4. กฎหมายรัฐธรรมนูญ

นิทรรศการส่วนนี้ได้นำเสนอถึงสถาบันกษัตริย์ที่ควรจะเป็น ผ่านการเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ในแต่ละประเทศ ที่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน โดยอาศัยเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ แล้วส่งผลในทางการเมืองและชีวิตของคนในสังคม ตัวอย่างเช่น การไม่ลงนามรับรองการรัฐประหาร, การไม่มีอำนาจยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมาย, การที่งบประมาณสถาบันกษัตริย์ไม่มีสัดส่วนที่สูงเกินไป, การไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง รวมไปถึงการไม่ปิดถนนเวลารับเสด็จ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของแต่ละประเทศ จึงช่วยสะท้อนถึงว่าทั้งตัวรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้มอบอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ในระดับใด มากเกินไปหรือไม่ 

การพิจารณาเปรียบเทียบเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านตาราง “คุณลักษณะอันพึงประสงค์” เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าร่วมงานได้เห็นและพิจารณาด้วยตนเองว่า สถาบันกษัตริย์ประเทศใดที่มีลักษณะเป็นไปในแบบที่ควรจะเป็นมากน้องต่างกันอย่างไรบ้าง

https://progressivemovement.in.th/article/common-school/5213/
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/8039/
https://progressivemovement.in.th/article/common-school/7895/

5. ผู้ได้รับผลกระทบ

นิทรรศการส่วนนี้นำเสนอถึงผู้ที่เดือดร้อนจากการใช้อำนาจที่เกินส่วนของสถาบันกษัตริย์ รายชื่อบุคคลกว่า 90 คนที่ถูกนำแสดงนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ทั้งในส่วนของข้าราชการในพระองค์ และข้าราชการของรัฐ คนเหล่านี้ถูกปลดและไล่ออกจากราชการจากการใช้อำนาจโดยตรงของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วนั้นการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์นั้นจำเป็นต้องมีผู้รับสนองราชโองการ ซึ่งก็คือตัวของนายกรัฐมนตรีที่ให้การรับรองการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ครั้งนั้นๆ อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจเหล่านี้เป็นการปลดออกจากข้าราชการโดยไม่มีผู้รับสนอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย ขัดกับรัฐธรรมนูญ ข้อหาที่ใช้ปลดออกจากราชการนั้นล้วนเป็นไปตามอำเภอใจของกษัตริย์และไม่สมเหตุสมผลจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น กระทำการให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง, ประพฤติตนและทัศนคติไม่เหมาะสมกับยศตําแหน่ง, ไม่ปฏิบัติตามพระราโชบาย, มักใหญ่ใฝ่สูง, ประพฤตผิดในกาม, ขี้เกียจ และข้อหาแปลกๆ อีกจำนวนมาก และในส่วนใหญ่ของผู้ที่ถูกปลดนั้นก็ไม่ได้ระบุข้อหาในการปลดไว้ว่าสืบเนื่องมาจากอะไร สิ่งเหล่านี้นั้นล้วนไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้ ปราศจากการตรวจสอบโดยสาธารณะโดยสิ้นเชิง ชะตากรรมของคนเหล่านี้ก็แตกต่างกันไป คนที่มีหน้าตาอยู่ในสังคมบ้างอย่างเช่นข้าราชการในระดับสูงนั้นยังพอที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่สำหรับข้าราชการในพระองค์ที่มีตำแหน่งเล็กและไม่เป็นที่รู้จักในสังคมนั้นแทบไม่ทราบชะตากรรมและความเป็นไปของคนเหล่านี้เลย และที่เลวร้ายสุดคือบางคนได้ถูกอุ้มหายและเสียชีวิตไปแล้ว เราขอนำเสนอชื่อของคนเหล่านี้ในฐานะผู้ที่เดือดร้อนจากการใช้อำนาจของกษัตริย์ ไม่ให้พวกเขาถูกลบเลือนไปและหายไปจากความทรงจำของสังคม

https://112watch.org/using-the-royal-gazette-to-spread-fear/

ในการจัดทำนิทรรศการนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่สามารถพูดคุย, แสดงความคิดเห็น, อภิปราย หรือถกเถียงกันในทางสาธารณะได้ ดังที่ได้เห็นแล้วว่าสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นอีกหนึ่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจทางการเมืองที่ดำรงอยู่ด้วยเงินภาษีของประชาชน, มีการสร้างอิทธิพลต่อความคิดของประชาชน, มีกำลังที่อาจให้คุณให้โทษแก่ประชาชนได้, มีประวัติในการใช้อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนมาแล้วเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีตัวอย่างจากนานาอารยประเทศที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้ หากยืนยันว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ตัวจริงแล้ว ประชาชนย่อมต้องสามารถพูดถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ได้ เพื่อที่สถาบันกษัตริย์จะได้รับฟังข้อคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา และนำไปสู่การปรับปรุงข้อบกพร่องและพัฒนาตัวเองของสถาบันกษัตริย์ต่อไป