เชื่อว่าหลายคนอาจเคยผ่านหูผ่านตากับวลีที่ว่า “จงทุบมงกุฎให้แตกสลาย แล้วโปรยเศษซากแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริง” จากป้ายข้อความ การปราศรัย สื่อโซเชียลมีเดียของผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในช่วงปี 2563 – 2564
วลีดังกล่าวมีที่มาจากหนังสือ “Common Sense” (สามัญสำนึก) เขียนโดย Thomas Paine หนึ่งในปัญญาชนผู้มีส่วนสำคัญในการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา (แปลภาษาไทยโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์) โดยมีประโยคเต็มคือ “เราจงทุบทำลายมงกุฎให้แตกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยในพิธีปิดงานฉลอง แล้วโปรยเศษซากแจกจ่ายแก่ประชาชนผู้ทรงสิทธิ์ที่แท้จริง” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องใดไม่ได้เลยนอกจากข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ DRG ขอชวนไปดูว่าภายใต้ข้อความดังกล่าวเคยเกิดกรณีศึกษาที่ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นจริงที่กลายเป็นขั้นบันไดหนึ่งของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเทศอังกฤษ
ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 (Charles I) แห่งอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างสภา (สภาขุนนาง, สภาสามัญ) กับกษัตริย์ที่สะสมมาตั้งแต่รัชกาลก่อนทั้งในแง่ศาสนา การใช้อำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์อย่างเกินขอบเขต การใช้งบประมาณสุรุ่ยสุร่าย การแต่งตั้งคนโปรดของกษัตริย์เข้ามามีอำนาจเหนือสภา ลดอำนาจสภาให้เหลือเพียงเป็นกระเป๋าสตางค์ของกษัตริย์ สงครามกับต่างประเทศ ฯลฯ มาถึงจุดปะทุเมื่อกษัตริย์สั่งจับกุม คุมขัง ประหารชีวิตสมาชิกสภาด้วยข้อหากบฎและปิดประชุมสภาเป็นเวลานานหลายปี
สภาตอบโต้ด้วยการไม่อนุมัติงบประมาณ (ภาษี) ทำให้กษัตริย์ที่เปรียบเสมือนกับรัฐบาลในปัจจุบันไม่มีงบประมาณในการบริหาร ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของชาร์ลส์ที่ 1 ก็คือการนำเครื่องเพชรของกษัตริย์และราชินีในรัชกาลก่อนรวมไปถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางส่วนซึ่งเป็นเครื่องแสดงสถานะความเป็นกษัตริย์ไปขายที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ สร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชน สภาจึงเห็นพ้องกันว่าเครื่องราชฯ จะต้องเป็นสมบัติของแผ่นดินไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของกษัตริย์ที่จะนำไปใช้ ขาย หรือยกให้ใครโดยเสน่หาโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภา อีกทั้งกษัตริย์ยังพยายามที่จะเก็บภาษีเองโดยไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภา นำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างสภากับกษัตริย์ซึ่งสุดท้ายฝ่ายสภาเป็นผู้ชนะ ชาร์ลส์ที่ 1 ถูกประหารชีวิตด้วยข้อหากบฎ เกิดการปฏิวัตินำไปสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณะรัฐ (Commonwealth of England : เครือจักรภพอังกฤษ) ภายใต้การนำของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) สมาชิกสภาที่เป็นทหาร
การปกครองของครอมเวลล์เป็นผู้นำเผด็จการที่โหดเหี้ยมมีความเคร่งศาสนาคริสต์นิกายพิวริตัน ปฏิเสธความฟุ้งเฟ้อ พิธีกรรม พิธีการต่างๆ หนักข้อถึงการเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของประชาชนในแง่ศีลธรรม ห้ามการแสดงละคร ห้ามการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสัน สิ่งหนึ่งที่ครอมเวลล์ทำคือการนำเครื่องราชฯ ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ คฑา ฯลฯ ที่ในทางการเมืองเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์เป็นตัวแทนของระบอบเก่าที่ถูกล้มล้างไป และในทางศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งผิดบาป มาทำลายด้วยการแงะอัญมณีต่างๆ ออกนำไปขายเอาเงินเข้าท้องพระคลังเพื่อใช้ในกิจการบ้านเมือง ส่วนทองคำก็นำไปหลอมและนำมาทำเหรียญให้ประชาชนใช้ ถือเป็นการทำลายสัญลักษณ์ของระบอบเก่าที่ใช้กันมาเกือบ 700 ปี
ภายหลังจากครอมเวลล์เสียชีวิต ประชาชนที่เบื่อหน่ายกับการกับการปกครองแบบเผด็จการทหารกึ่งศาสนาก็หวนรำลึกถึงสถาบันกษัตริย์ สมาชิกสภาและประชาชนจึงรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์กลับมาอีกครั้งด้วยการเชิญบุตรชายของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 ที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศกลับมาครองราชย์เป็นกษัตริย์พระนามว่าชาร์ลส์ที่ 2 (Charles II) ปัญหามีอยู่ว่าเครื่องราชฯ ถูกทำลายไปหมดแล้ว ประชาชนชนที่เคยรับซื้ออัญมณีจากครอมเวลล์จึงนำมาถวายคืนเพื่อให้มีการสร้างเครื่องราชฯ ใหม่โดยอาศัยแบบจากบันทึกของสภาในปีที่ทำลายและนำออกขายดังกล่าว
การขับเขี่ยวระหว่างสภากับกษัตริย์ก็ดำเนินต่อไปแต่อำนาจของกษัตริย์ค่อยๆ ถูกลดลงเรื่อยๆ อำนาจการบริหาร อำนาจการจัดเก็บภาษีถูกถ่ายโอนไปที่สภามากขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติอีกครั้งและต่อเนื่องด้วยการเปลี่ยนราชวงศ์ ขณะเดียวกันกษัตริย์ก็ยังเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน ปราสาท พระราชวังและข้าราชบริพารอีกมากมายแต่พอรายได้หลักถูกสภาควบคุมไว้ไม่ให้สามารถใช้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทรัพย์สินที่มีเลยก่อหนี้สินจำนวนมหาศาลเช่นกัน นำไปสู่จุดประนีประนอมในปี 1790 เมื่อกษัตริย์จอร์จที่ 3 (George III) ตกลงกับรัฐสภาให้รัฐสภาดูแลทรัพย์สินและหนี้สินรวมทั้งค่าตอบแทนของตำแหน่งข้าราชบริพารทั้งหมดที่เป็นส่วนของกษัตริย์แลกกับงบประมาณรายปีและดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินส่วนกษัตริย์บางส่วน มีการก่อตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนกษัตริย์ กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อการถ่ายโอนทรัพย์สินให้เป็นของแผ่นดินโดยมีผู้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ขณะนั้นเป็นผู้ถือครอง ไม่มีสิทธิขาย ส่งต่อให้ทายาท หรือมอบให้ใครโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมไปถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วยที่ถูกกำหนดให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์เท่านั้นที่เป็นเจ้าของ ซึ่งทั้งหมดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแนวคิดที่เริ่มตั้งแต่กรณีที่ชาร์ลส์ที่ 1 นำเครื่องเพชร เครื่องราชฯ ออกขายและหายสาบสูญไป เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่ยาวนานกว่าที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เดินทางไปพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตยแบบในปัจจุบันได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็กำลังเผชิญความท้าทายใหม่หลังการสวรรคตของราชินีอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) ถึงการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ว่ายังจำเป็นหรือไม่ในโลกปัจจุบัน
https://www.silpa-mag.com/history/article_93821
https://www.nationalarchives.gov.uk/education/resources/the-king-the-crown-the-colonel/
https://www.englishmonarchs.co.uk/crown_jewels.htm
https://www.facebook.com/quoteV2/posts/3478926825542532/