จุดแตกหักระหว่างระบอบเผด็จการ และระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังการเข้ายึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) หรือที่ในภายหลังแปลงร่างไปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งในครานั้นผู้ก่อการรัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.ร.อ.สถิรพันธ์ เกยานนท์ ผบ.ทร., พล.อ.อ.ชลิต พุกพาสุกผบ.ทอ., พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. และ พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส. และมีกำลังสนับสนุนภายใต้เครือข่าย “3 ป” ได้แก่ พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา (ยศในขณะนั้น) และพล.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นทหารคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ อดีต ผบ.ทบ. คนก่อนหน้าที่วางรากฐานทางอำนาจผ่านคนสนิทเอาไว้ก่อนพ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ.
หลังการรัฐประหาร ได้มีนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งองคมนตรีในขณะนั้น และเป็นอดีต ผบ.ทบ. และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) โดยมี พล.อ.สนธิ เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคง และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการสรรหา และเลือกโดย คมช. จำนวน 100 คนทำหน้าที่ร่าง ซึ่งเป็นที่มาของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การให้มี สว. สรรหาร่วมกับ สว. เลือกตั้ง และให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง จนเกิดการยุบพรรคการเมือง และจำกัดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารหลายครั้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายหลังการรัฐประหาร 2549 นั้น ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบรัฐบาลทักษิณโดยเฉพาะ และกรรมการ คตส. นั้น ประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นปฏิปักษ์กับ “ทักษิณ ชินวัตร” สร้างความไม่โปร่งใส และไม่ยุติธรรมภายใต้อำนาจคณะรัฐประหาร และเป็นที่มาในการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทักษิณจนมีโทษจำคุกในหลายคดี
การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 นั้น กล่าวกันว่าเป็นการรัฐประหารที่เสียของ เพราะไม่สามารถกำราบ กำจัดอุดมการณ์ประชาธิปไตย และความนิยมในเครือข่ายของทักษิณลงได้ เนื่องจากหลังการรัฐประหาร ความนิยมในตัวทักษิณ และพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากพรรคไทยรักไทยยังคงสามารถชนะการเลือกตั้งได้ในทุกครั้ง ประชาชนจำนวนมากตื่นตัว และรวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตย เกิดขบวนการ “คนเสื้อแดง” ซึ่งต่อมาถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงในเหตุการณ์ “เมษา – พฤษภา 53” และชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2554 นั้นสามารถส่งให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวของทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกด้วยจำนวน สส. เกิน 50% ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร จนนำมาสู่การรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้นเป็นหัวหน้า และเป็นน้องรักของอดีต ผบ.ทบ. ทั้ง 2 คน คือ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกำราบอุดมการณ์ประชาธิปไตย และเครือข่ายทักษิณให้ราบคาบให้ได้ ซึ่งในครั้งนี้กินเวลามากกว่า 5 ปี
การเลือกตั้งในปี 2562 พร้อมกับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในเวลาไล่เลี่ยกัน กลายเป็นหนามยอกอกใหม่ที่ทิ่มแทงฝ่ายเผด็จการ ด้วยท่าทีที่ต่างออกไปจากพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นม้ามืดได้ สส. กว่า 80 ที่นั่ง เข้าสภามาเป็นอันดับ 3 รองจากพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐที่หมายสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนั้นพรรคพลังประชารัฐประสบความสำเร็จ สามารถสืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง เนื่องจากองคาพยพทั้งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ กองทัพ และอื่น ๆ ถูกแทรกแซงครอบงำโดย คสช. โดยเบ็ดเสร็จ รวมถึงเนื้อหารัฐธรรมนูญที่ร่างมาเพื่อกีดกันฝ่ายประชาธิปไตย และเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายเผด็จการ ทำให้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์มีเสถียรภาพมากพอที่จะยืนระยะไปอีก 4 ปี ในขณะเดียวกันก็จ้องทำลายพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นพรรคก้าวไกล และการกว้านซื้อ สส. ให้ย้ายฝั่งอีกจำนวนมาก
การกระทำจากระบอบเผด็จการรัฐประหาร สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เสียเวลาในชีวิตหลายปีให้กับระบอบเผด็จการ ด้วยสาเหตุปัจจัยที่หลากหลายในปี 2563 – 2564 จึงเกิดการชุมนุมขึ้นทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย จากขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ ไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ จากรัฐธรรมนูญใหม่ไปสู่การเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุที่กลุ่มผู้มีอำนาจไม่ยอมรับหลักการประชาธิปไตย ความเสื่อมถอยของระบอบเผด็จการที่ยกเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือกำราบประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ได้ย้อนกลับไปทำลายความเชื่อ และอุดมการณ์เผด็จการ และเมื่อการเลือกตั้งในปี 2566 จบลง พรรคก้าวไกลสามารถชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ได้คะแนนเสียงกว่า 14 ล้านเสียง แต่สุดท้ายด้วยมรดก คสช. อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ สว. แต่งตั้ง พรรคก้าวไกลไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ และต่อมาพรรคเพื่อไทยที่รับไม้ต่อได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเครือข่ายเผด็จการ ส่วนพรรคก้าวไกลถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านในวันเดียวกันกับที่สภามีมติเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยนั้น คือวันเดียวกันกับที่ทักษิณ ชินวัตรได้เดินทางกลับประเทศไทย และโดนโทษจำคุก 8 ปี และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในวันเดียวกัน แต่ทักษิณอยู่ในเรือนจำไม่ถึง 24 ชม. ก็ถูกส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ตำรวจจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ และอายุมาก จากนั้นไม่นาน มีพระบรมราชโองการลดโทษให้ทักษิณจากจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี ปิดฉากความขัดแย้งเหลืองแดงที่ขัดแย้งกันมากว่า 17 ปี หลงเหลือเพียงปัญหาขัดแย้งระหว่างประชาชนที่พยายามต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทวงคืนสิทธิ ความเท่าเทียม และผู้มีอำนาจที่ยังหาโอกาสกำราบ และกดขี่ประชาชนต่อไป
จากวันนั้น ถึงวันนี้ เราชวนย้อนดูว่าคนสำคัญในช่วงเวลารัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ปัจจุบันเขาเป็นใครในวันนี้
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
– อดีต : หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
– ปัจจุบัน : นักการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
– อดีต : ทหารในคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
– ปัจจุบัน : หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร และนักการเมือง
พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ
– อดีต : อดีต ผบ.ทบ. พี่ใหญ่กลุ่ม “3 ป”
– ปัจจุบัน : หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขุมกำลังสืบทอดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2562
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
– อดีต : ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
– ปัจจุบัน : นักการเมือง
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
– อดีต : องคมตรี นายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
– ปัจจุบัน : ประธานองคมนตรี
สนธิ ลิ้มทองกุล
– อดีต : แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนเสื้อเหลือง)
– ปัจจุบัน : สื่อมวลชน
อนุทิน ชาญวีรกูล
– อดีต : กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
– ปัจจุบัน : รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
ทักษิณ ชินวัตร
– อดีต : นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง
– ปัจจุบัน : นักโทษทางการเมือง VVIP
รัชกาลที่ 9
– อดีต : พระมหากษัตริย์
– ปัจจุบัน : สวรรคต
รัชกาลที่ 10
– อดีต : มกุฎราชกุมาร
– ปัจจุบัน : พระมหากษัตริย์