10 เมษายน 2565 ม.จ.จุลเจิม ยุคล นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และเป็นสมาชิกราชวงศ์จักรีผู้มักแสดงความเห็นทางการเมืองในแนวทางกษัตริย์นิยมและต่อต้านระบอบประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ความว่า

“หลังจาก 2475 เป็นต้นมา เกือบร้อยปี ที่ สถาบันพระมหากษัตริย์ โดนปล้นพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี ข้าราชการทหาร ตำรวจประชาชนคน ธรรมดา รวมตัวกันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขึ้นบริหารบ้านเมืองภายใต้อำนาจที่ผลัดเปลี่ยนกันหลายกลุ่ม หลายเหล่า และหลายอุดมการณ์ความคิด ประเทศชาติมีแต่ย่ำแย่ลงทุกวัน

เราไม่อาจหวังพึ่งคนเหล่านั้นได้อีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เรา (ประชาชน) ต้องคิดกันว่า สมควรแล้วหรือยัง ที่ต้องถวายคืนพระราชอำนาจ เพื่อปฏิรูปการเมืองใหม่ ในรูปแบบ ของ พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 7

นี่คือพระราชดำริ ส่วนหนึ่ง ที่ พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ต้องพระประสงค์ เพื่อปฏิรูปบ้านเมือง ให้เจริญแบบอารยประเทศ

‘การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงาน และชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดเปนพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น #ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเองแต่ฉะเพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น’…..

#ลงพระปรมาภิไธย #พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที

ม.จ. จุลเจิม ยุคล”

โพสต์ของ ม.จ.จุลเจิม ยุคล เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565

ข้อเขียนของจุลเจิมครั้งนี้คงเหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา นั่นคือโหยหาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ซึ่งอำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จรวมศูนย์อยู่ที่กษัตริย์ คำกล่าวที่ว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์โดนปล้นพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน” หากเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในหลักการว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ย่อมไม่มีวันที่จะพูดออกมาเช่นนี้ได้เลย

จุลเจิมกล่าวอ้างว่าประเทศชาติมีแต่ย่ำแย่ลงทุกวันจากการผลัดเปลี่ยนขึ้นบริหารบ้านเมืองของหลากหลายกลุ่ม หลายเหล่า หลายอุดมการณ์ความคิด โดยที่มิได้กล่าวถึงด้วยว่าในสมัยที่ประเทศยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงรัชกาลที่ 7 นั้น บ้านเมืองภายใต้การบริหารของกษัตริย์และขุนนางข้าราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ประสบกับความล้มเหลวจนเป็นหนึ่งสาเหตุที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน และมิได้กล่าวถึงว่าหนึ่งในกลุ่มที่ยัดเยียดตัวเองเข้ามาบริหารประเทศอยู่บ่อยครั้งหลังปี 2475 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ “ประเทศชาติมีแต่ย่ำแย่ลงทุกวัน” จริงๆ อย่างที่จุลเจิมพูด ก็คือบรรดาเผด็จการรัฐประหารที่พกเอาอุดมการณ์กษัตริย์นิยมติดตัวมา และพยายามเพิ่มพูนอำนาจให้สถาบันกษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

แต่แทนที่จุลเจิมจะสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาที่ยังยืนยันอำนาจสูงสุดของประชาชน กลับเสนอให้ประชาชนประเคนอำนาจสูงสุดที่ควรเป็นของพวกเขาไปให้กับกษัตริย์เสีย การใช้คำว่า “ถวายคืน” ยิ่งทำให้เห็นว่าคนอย่างจุลเจิมไม่เห็นว่าประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเป็นเจ้าของอำนาจตั้งแต่แรก

คำพูดของประชาธิปก กษัตริย์รัชกาลที่ 7 ที่จุลเจิมหยิบยกขึ้นมา ก็ไม่ได้สะท้อนแต่อย่างใดเลยว่าหากให้อำนาจเป็นของกษัตริย์แล้ว จะนำไปสู่การปฏิรูปบ้านเมืองให้เจริญแบบอารยประเทศตามที่จุลเจิมอ้างว่าเป็น “พระประสงค์” อันที่จริงการมีอยู่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (หมายถึงสมาชิกฯ ที่มาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์) ณ ขณะนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นผลจากการประนีประนอมระหว่างประชาธิปกและฝ่ายคณะราษฎร คำพูดของประชาธิปกจึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการแสดงความไม่พอใจต่อสภาพความเป็นจริงที่ตนไม่ได้มีอำนาจเหนือฝ่ายคณะราษฎรเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าประชาธิปกได้แต่งตั้งบุคคลที่ตัวเองแนะนำขึ้นมาแล้ว บุคคลเหล่านั้นจะเป็นผู้ที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศไปกว่าคนที่คณะรัฐบาลเลือก หรือจะเป็นผู้ที่ไม่จำกัดเป็นพวกใดคณะใดจริงๆ

ในปัจจุบันนี้ที่เรามี ส.ว. มาจากการเลือกโดย คสช. (ผู้จงรักภักดีเป็นหนักหนา) รวมถึงมีการเพิ่มอำนาจของสถาบันกษัตริย์มากขึ้นผ่าน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ซึ่งเท่ากับเป็นการสนองต่อสิ่งที่จุลเจิมเรียกร้องมาแล้วในระดับหนึ่ง เรายังได้เห็นแล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ส.ว. ช่วยกันตั้งขึ้นมา เป็นรัฐบาลที่ล้มเหลวเพียงใด ได้เห็นแล้วว่ากษัตริย์วชิราลงกรณ์ใช้อำนาจที่ตนได้รับไปกับการตั้งกองทัพส่วนตัว ตั้งคนสนิทของตัวเองทั้งชายหญิงมากินเงินเดือน พาตัวเองและคนสนิทไปเสวยสุขต่างแดนด้วยภาษีของประชาชน กล่าวได้ว่าการใช้อำนาจของกษัตริย์ก็กระทบต่อประชาชนแล้วไม่มากก็น้อย แล้วถ้าให้ประชาชนประเคนอำนาจทั้งหมดที่พวกเขามีไปให้กษัตริย์แล้ว สิ่งที่เป็นอยู่นี้จะยิ่งเลยเถิดไปขนาดไหน? 

ถึงยุคสมัยนี้แล้ว ไม่ควรเป็นเรื่องยากเลยที่จะทำความเข้าใจว่าการมอบอำนาจทั้งหมดให้กับบุคคลหรือสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนนั้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงคือประชาชน หรือบุคคลหรือสถาบันที่รับมอบอำนาจ ที่ซึ่งตัวผู้เสนอเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของสถาบันนั้นด้วยกันแน่

https://www.facebook.com/744788370/posts/10159325586443371/