วันนี้ (12 กันยายน 2565) เป็นอีกวันหนึ่งที่สะท้อนถึงความอัปยศของกระบวนการยุติธรรมและตุลาการไทย เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งตัดสินจำคุก จตุพร แซ่อึง (นิวส์) 3 ปี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปรับ 1,500 บาท ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากกรณีแต่งชุดไทยเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมเดินขบวนแฟชั่นโชว์ที่ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 (แจ้งความกล่าวหาโดย วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ “เชียร์ลุง”) แต่ให้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี ปรับ 1,000 บาท ด้านจตุพรได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่ง ทำให้จตุพรต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่ง ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 3 วัน
พิพากษาโดย วัฒนพล ไชยมณี ผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
การตัดสินดังกล่าวถือเป็นการตีความจนเลยเถิดไปกว่าตัวบทกฎหมาย เพราะเพียงการแต่งตัวหรือแสดงท่าทางเลียนแบบราชวงศ์ ต่อให้มีเจตนาเช่นนั้นจริง (ในการพิจารณาคดี จตุพรให้การยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเลียนแบบใครเป็นการเฉพาะ) ก็ไม่มีทางที่จะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงการอาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 ได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าตัวมาตรา 112 เองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ตกยุค และละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ศาลกำลังทำหน้าที่ตีความกฎหมายแบบครอบจักรวาลและทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองแทนที่จะทำหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม การแต่งชุดไทยซึ่งถือเป็นชุดที่ใส่ได้ไม่ว่าจะเป็นการแก้บน การแสดงละคร ฯลฯ ที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปแต่กลับถูกนำมาตีความให้เข้ามาตรา 112 ศาลตีความการแต่งชุดไทยเป็นการดูหมิ่นพระราชินี ทั้งที่เจ้าตัวยืนยันว่าใส่ชุดไทยตามปกติไม่ได้เลียนแบบใครการตีความดังกล่าวจึงไม่มีหลักเหตุและผลรองรับเป็นการตีความเอาบริบทแวดล้อมมาสนับสนุนการตีความแบบอำเภอใจของศาล
นอกจากนั้นตามหลักกระบวนการยุติธรรมผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้ประกันตัวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ถ้าไม่พอใจหรือเห็นแย้งจากคำตัดสินของศาลชั้นต้นไม่ว่าคำตัดสินนั้นจะเป็นการลงโทษก็ตาม และศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะออกคำสั่งได้ทันทีเพื่อให้จำเลยสามารถไปต่อสู้คดีได้ จตุพรเองก็เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจที่จะไปขัดขวางกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใดแต่สุดท้ายกลับต้องรอศาลอุทธรณ์มีคำตัดสิน ทำให้จตุพรต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ในทางปฏิบัติจึงเท่าทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียอิสรภาพไปแล้วโดยเอาเรื่องกระบวนการขั้นตอนที่ไม่จำเป็นมาใช้เป็นข้ออ้าง การกระทำดังกล่าวศาลควรจะพิจารณาตัวเองว่าทำตามหลักกระบวนการยุติธรรมจริงหรือไม่ เพราะถ้าคดียังไม่ถึงที่สุดผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการเอาผู้บริสุทธิ์ไปขังเพียงเพราะต้องรอคำสั่งของศาลอื่นจึงไม่แปลกที่ประชาชนจะตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและสามัญสำนึกของการเป็นผู้พิพากษาในปัจจุบัน
ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหลายๆ ไม่มีใครต้องติดคุกเพราะแต่งกายเหมือนกษัตริย์หรือราชินี ไม่ว่าจะโดยบังเอิญ แค่ชุดเหมือน หรือตั้งใจล้อเลียนไม่ว่าจะเป็นในกรณีของราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรฯ ไปก็มีภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องเอานักแสดงมาสวมบทบาท ทั้งแบบดรามาในละครชุด The Crown หรือล้อเลียนตลกในภาพยนตร์ Johnny English แม้กระทั่งในประเทศเดนมาร์ค Ulf Pilgaard นักแสดงละคร ที่นอกจากจะแต่งตัวคล้ายราชินีมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กแล้ว เขายังแสดงละครล้อเลียนราชินีอีกด้วย แต่สิ่งที่เขาได้รับคือของขวัญและคำชมจากราชินีที่เดินทางมาเป็นแขกรับเชิญในการแสดงสุดท้ายของเขาอีกด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศที่กล่าวมายังมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของประเทศเหล่านั้นเรียนรู้ที่จะปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้คนในปัจจุบัน
ศาลมักอ้างเสมอว่าตนเองใช้อำนาจพิพากษา “ในพระปรมาภิไธย” แต่คำตัดสินในวันนี้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ถูกตั้งคำถามจากประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ DRG จึงสงสัยในสามัญสำนึกของศาลสถิตยุติธรรมว่าการตัดสินในพระปรมาภิไธยเป็นการตัดสินที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ยังคงความน่าเชื่อถือ หรือเป็นการตัดสินแบบหลับหูหลับตา ตีความจนไกลกว่าตัวบท และทำให้สถาบันกษัตริย์ห่างไกลจากประชาชนมากขึ้นไปทุกทีกันแน่
https://twitter.com/TLHR2014/status/1569171894091550720
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166924666385551
https://www.facebook.com/thestandardth/posts/3140485869577617
https://tlhr2014.com/archives/48130
https://prachatai.com/journal/2022/01/96757