เมื่อวานนี้ (7 กันยายน 2565) ในการประชุมร่วมของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ผลปรากฏว่ารัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญทุกฉบับ 

โดยในกรณีของร่างฉบับ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” นั้น มีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) 357 เสียง จากสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 727 คน จึงไม่ถึงจำนวนครึ่งหนึ่งของสภา (364 คนขึ้นไป) และในจำนวนนี้ เป็นเสียง ส.ว. เห็นชอบเพียง 23 คน จาก ส.ว. ทั้งหมด 250 คน เท่านั้น จึงไม่ถึงเกณฑ์ 1 ใน 3 ตามรัฐธรรมนูญ (84 คนขึ้นไป)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคะแนนเสียงเห็นชอบของรัฐสภาขาดไปแค่ 7 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่าหากมี ส.ว. ร่วมลงมติเห็นชอบจนถึง 84 คน แล้ว จะทำให้คะแนนเสียงในสภาทั้งหมดอยู่ที่ 418 เสียง เกินครึ่งหนึ่งที่จะผ่านความเห็นชอบได้

นอกจากนี้ยังมีกรณีของร่างฉบับที่แก้เรื่องสิทธิชุมชนให้เพิ่มความการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็มีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ถึง 382 เสียง ซึ่งเกินครึ่งสภา แต่ปรากฏว่ามีเสียง ส.ว. เห็นชอบเพียง 40 เสียง ไม่ถึง 1 ใน 3 นั่นหมายความว่าการคว่ำร่างแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นฝีมือของ ส.ว. ล้วนๆ

DRG เห็นว่าการกำหนดในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้ ส.ว. ที่มาจากการเลือกโดย คสช. ให้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และแสดงถึงเจตนาในการสืบทอดอำนาจของ คสช. ตั้งแต่ต้น และการที่ ส.ว. ยังคงยืนยันที่จะคงอำนาจนี้ไว้ ด้วยการคว่ำร่าง “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่า ส.ว. ก็ยังคงยืนยันที่จะช่วยให้คนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวกคณะรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจไปอีกนานเท่านานเช่นกัน

https://web.facebook.com/workpointTODAY/posts/2019889098380358
https://web.facebook.com/iLawClub/posts/10166907854750551