เช้าวันนี้ (17 กันยายน 2564) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเรื่องเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งถูกนำมาใช้ทั่วประเทศเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งในสถานการณ์ COVID-19 และใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วกว่า 16 ปี

โดยภาคประชาชนผู้ยื่นคำร้องได้ชี้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ในประการดังต่อไปนี้

1. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสามารถขยายออกไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องให้สภาเห็นชอบ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งแทนที่รัฐบาลจะใช้เวลาที่มีในการคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด กลับเลือกที่จะต่อเวลาไปเรื่อยๆ อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายเสียเอง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่สร้างภาระแก่ประชาชน มีเนื้อหากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินจำเป็น ให้อำนาจรัฐบาลกระทำการหรือสั่งการบังคับประชาชนได้อย่างไร้ขอบเขต และกระทบต่อประโยชน์ของประชาชนมากยิ่งกว่าประโยชน์สาธารณะที่ได้รับกลับมา รัฐบาลใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวออกข้อกำหนดควบคุมข่าวสารอย่างกว้างขวาง ทั้งที่มีมาตรการอื่นที่จำกัดเสรีภาพน้อยกว่า รวมถึงฉวยโอกาสมาออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมทางการเมืองเพื่อปราบปรามผู้ที่ต่อต้านตัวเอง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินส่วน

3. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำกัดสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่คุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมาย โดยให้อำนาจจับกุมตัวบุคคลได้แม้กระทั่งผู้ที่ยังเพียง “ต้องสงสัย” และโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนถูกจับกุมโดยไม่แจ้งเหตุและไม่แจ้งสิทธิ นำตัวไปยังสถานที่ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจได้นานถึง 7 วัน และขยายเวลาได้ถึง 30 วัน ทั้งยังมีรายงานว่ามีการซ้อมทรมานจนถึงแก่ความตายหรือถูกอุ้มหาย จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์

4. พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตัดอำนาจศาลปกครองในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลปกครองนั้นมีอำนาจในการไต่สวนได้เองเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการสืบหาพยานหลักฐานจากทางราชการให้กับประชาชนผู้เสียหาย การที่ตัดอำนาจศาลปกครองแล้วให้ไปใช้ช่องทางศาลยุติธรรมแทน จะทำให้ประชาชนเกิดความยากลำบากในการต่อสู้คดีมากยิ่งขึ้น จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล

ด้วยเหตุนี้ผู้ยื่นคำร้องซึ่งต้องอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเห็นว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องตกไปทั้งฉบับ และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป

https://web.facebook.com/watch/live/?v=541006826989969