ในวันอังคารที่ 6 และวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 รัฐสภาจะมีการประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ในวาระการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในวาระที่ 1 

โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ชุดแรก ที่มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จำนวน 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช. ในการร่วมลงมติกับ ส.ส. เพื่อเลือกผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมาจากการเข้าชื่อของภาคประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 70,500 คน (ตรวจสอบโดยรัฐสภา มีสิทธิเลือกตั้งและหลักฐานยืนยันตัวครบถ้วน 64,151 คน)

ย้อนดูที่มา “คำถามพ่วง” เปิดช่อง ส.ว. เลือกนายกฯ

จุดเริ่มต้นของอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 มาจาก “คำถามพ่วง” ที่เสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (ทั้ง 2 องค์กรถูกจัดตั้งขึ้นโดย คสช.) ให้บรรจุเป็นอีกหนึ่งคำถามในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559

“ผมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว. 250 คนนี้มีสิทธิร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเป็นคำถามพ่วง… คำถามพ่วงนี้โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียง ว่าเห็นด้วยว่าให้ ส.ว. ที่ คสช. ตั้งมาเนี่ย มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี… แปลว่า คสช. มีคนที่จะโหวตให้เขาเป็น นายกฯ อยู่ในกระเป๋า 250 ต่อไปนี้จะโหวตนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง 375 คสช. มีอยู่ 250 เพราะฉะนั้นไปหามาอีกสักร้อยกว่าเสียงก็ได้ 376 ก็เป็นนายกฯได้” วันชัย สอนศิริ อดีตสมาชิก สปท. (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) กล่าวถึงคำถามพ่วงที่ตัวเองเป็นผู้คิดขึ้นมา โดยปรากฏในคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านไปแล้ว

วันชัย สอนศิริ กล่าวถึง “คำถามพ่วง” ภาพจากคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่

เมื่อไปดูตัวคำถามที่เขียนไว้ในบัตรลงคะแนน ระบุไว้ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” จะเห็นได้ว่าผู้ตั้งคำถามมีเจตนาให้เกิดความคลุมเครือ ไม่ให้ประชาชนผู้ลงประชามติเข้าใจได้โดยง่ายว่าประเด็นของคำถาม ด้วยการไม่ระบุคำว่า “วุฒิสภา” เลยแม้แต่คำเดียว

ตัวอย่างบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พร้อม “คำถามพ่วง”

ในครั้งนั้น ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 16.8 ล้านเสียง (61%) ไม่เห็นชอบ 10.6 ล้านเสียง (39%) ส่วนคำถามพ่วงผ่านประชามติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 15.1 ล้านเสียง (58%) ไม่เห็นชอบ 10.9 ล้านเสียง (42%) ท่ามกลางบรรยากาศการรณรงค์ประชามติที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถโฆษณาได้ฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านกลับถูกปราบปรามและดำเนินคดีต่างๆ โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการลงประชามติเป็นจำนวนถึง 212 คน

ส่องประวัติการลงมติ โหวตประยุทธ์ไม่แตกแถว, คว่ำร่างตัดอำนาจตัวเองทุกครั้ง

เมื่อ ส.ว. 250 คนชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมา ในการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ส.ว. ทั้งหมด 249 คน (ยกเว้นพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่งดออกเสียงตามมารยาท) ได้ลงคะแนนเสียงให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาจากยุครัฐประหาร (ในขณะที่ ส.ส. เลือก พล.อ.ประยุทธ์ 251 เสียง เลือกธนาธร 244 เสียง) สอดคล้องกับที่วันชัยได้กล่าวไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีเสียง ส.ว. อยู่ในกระเป๋าตั้งแต่แรกแล้ว มติดังกล่าวกลายเป็นที่ประณามจากสังคมอย่างรุนแรงว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดแจ้งของการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 5 มิ.ย. 62 (ภาพ: Workpoint News)

ภายหลังจากนั้นมา มีความพยายามเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเพื่อตัดอำนาจดังกล่าวของ ส.ว. ถึง 3 ครั้ง เป็นจำนวน 5 ฉบับด้วยกัน แต่ในทุกครั้งไม่เคยได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. มากพอที่จะผ่านร่างเหล่านั้นได้ (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การแก้รัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงขึ้นไป) ได้แก่

1. เดือนพฤศจิกายน 2563 มีเสนอเข้ามา 2 ร่าง คือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มี ส.ว. เห็นชอบแค่ 56 เสียง (ทั้งสภาเห็นชอบ 268 เสียง) และร่างของภาคประชาชน มี ส.ว. เห็นชอบแค่ 3 เสียง (ทั้งสภาเห็นชอบ 212 เสียง)

2. เดือนมิถุนายน 2564 มีเสนอเข้ามา 2 ร่าง คือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มี ส.ว. เห็นชอบแค่ 15 เสียง (ทั้งสภาเห็นชอบ 455 เสียง) และร่างของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย มี ส.ว. เห็นชอบแค่ 21 เสียง (ทั้งสภาเห็นชอบ 461 เสียง) มีข้อสังเกตว่าในครั้งนี้เสียงเห็นชอบทั้งสภามีมากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเสียงของการที่ ส.ว. ไม่เห็นชอบถึง 1 ใน 3 จึงเป็นเหตุให้ข้อเสนอตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ถูกรับไปพิจารณาต่อ

3. เดือนพฤศจิกายน 2564 มีเสนอเข้ามา 1 ร่าง คือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน มี ส.ว. เห็นชอบแค่ 3 เสียง (ทั้งสภาเห็นชอบ 206 เสียง)

ผลการลงมติแก้รัฐธรรมนูญ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” แต่ละครั้งที่ผ่านมา (ภาพ: iLaw)

การประชุมรัฐสภาในวันที่ 6 – 7 กันยายน 2565 จึงเป็นที่น่าจับตามองอีกครั้งว่า ส.ว. จะมีมติเช่นไร ซึ่งนอกจากการประชุมในสภาแล้ว ภาคประชาชนก็ได้นัดรวมตัวเพื่อติดตามการประชุมในวันที่ 6 กันยายน เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภาด้วยเช่นกัน DRG จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาประเด็นดังกล่าวเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลงมติภายในสัปดาห์นี้ อย่าปล่อยในห้ององคาพยพของระบบ คสช. ซึ่งทำลายหลักการประชาธิปไตยคงอยู่ต่อไป

https://ilaw.or.th/node/4195
https://ilaw.or.th/node/4251
https://workpointtoday.com/วันชัย-อธิบายคสช-มีแล้ว-250/
https://tlhr2014.com/archives/3924
https://workpointtoday.com/votepm62/
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166896268975551