ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานการแจ้งเตือนจากบริษัท Apple ถึงลูกค้าผู้ใช้งานอุปกรณ์ของบริษัท ว่าเชื่อว่ามีการเจาะระบบโดย “หน่วยโจมตีไซเบอร์สนับสนุนโดยรัฐ” ซึ่งปรากฏว่าผู้ได้รับการแจ้งเตือนดังกล่าวในไทยนั้น ได้แก่บรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักการเมือง นักวิชาการ และ NGO ที่แสดงจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ราย

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (27 พฤศจิกายน 2564) ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก DRG เปิดเผยเอกสารสัญญาการจัดซื้อ “เครื่องมือสำหรับตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล” โดยกองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นวงเงิน 17,723,000 บาท กำหนดส่งมอบเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

โพสต์ของชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิก DRG เปิดสัญญาเอกสารตำรวจกองปราบฯ ซื้ออุปกรณ์เจาะโซเชียลฯ ราคา 17 ล้านบาท

แน่นอนทางตำรวจก็จะอ้าง (ตามที่ปรากฏในเอกสาร) ว่าเพราะปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชันต่างๆ มาใช้กระทำผิดมากขึ้น ตำรวจจึงต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงาน

แต่จากที่เราเห็นกรณีการแจ้งเตือนจาก Apple ภายใต้หน้าฉากของข้ออ้างตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัล เมื่อในความเป็นแล้วจริงรัฐเองก็อาจกลายเป็น “ผู้ร้าย” ได้ สุดท้ายแล้วเป้าหมายหลักของการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ก็จะหนีไม่พ้นผู้เห็นต่างทางการเมือง ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล หรือผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

และยังไม่นับว่าความสามารถของอุปกรณ์ดังกล่าวตามที่ระบุในเอกสาร ทั้งถอดรหัสบนโทรศัพท์มือถือ ถอดรหัสลับและดึงข้อมูลของโปรแกรมแชท เจาะข้อมูลในอีเมล์และโซเชียลมีเดียของเป้าหมาย กู้คืนข้อมูลที่ถูกลบ นั้น ถือเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่นตั้งแต่ต้นแล้วหรือไม่

หากบริสุทธิใจจริง รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สตช., กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอุปกรณ์และการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวในทุกๆ ด้าน รวมถึงเปิดให้ประชาชนภายนอกตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง มิเช่นนั้นแล้ว การซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาย่อมชี้ถึงเจตนาของรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ว่ามองประชาชนเป็นศัตรู

https://prachatai.com/journal/2021/11/96088
https://www.facebook.com/107039995116373/posts/120046850482354/