30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ในข้อเท็จจริงดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี 1 เดือน 7 วัน ว่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 ที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลารวมกันทั้งหมดเกิน 8 ปีมิได้ หรือไม่
โดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่าการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ คือ 6 เมษายน 2560 (ไม่ใช่นับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อเท็จจริง คือ 24 สิงหาคม 2557) พล.อ.ประยุทธ์จึงยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี และยังไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รายชื่อตุลาการ 6 คนที่วินิจฉัยในแนวทางดังกล่าวได้แก่
– วรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธาน)
– ปัญญา อุดชาชน
– อุดม สิทธิวิรัชธรรม
– บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
– จิรนิติ หะวานนท์
– วิรุฬห์ แสงเทียน
ผลของคำพิพากษาดังกล่าว เท่ากับเป็นการรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์อาจดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปได้ถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 หรืออีก 2 ปี 6 เดือน 5 วันข้างหน้า
เมินเจตนารมณ์ป้องกัน “การผูกขาดอำนาจ”
ศาลรัฐธรรมนูญยังอ้างถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ด้วยว่าเป็นเพียงการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายรายมาตรา ซึ่งจัดทำขึ้นภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว และความเห็นที่ กรธ. พูดคุยกันเรื่องการนับวาระดำรงตำแหน่งของ พล.อ. ประยุทธ์นั้นก็ไม่ได้ถูกนำไปใส่ในเอกสารที่จัดทำขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ตาม หากดูเนื้อหาในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พบว่าในมาตรา 158 ระบุคำอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าที่ต้องกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปีนั้น “เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
ซึ่งกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น เมื่อดำรงตำแหน่งมาแล้ว 8 ปี 1 เดือน 7 วัน และศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้ยังดำรงตำแหน่งได้อีก 2 ปี 6 เดือน 5 วัน เท่ากับว่าในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์อาจดำรงตำแหน่งได้นานถึง 10 ปี 7 เดือน 12 วัน DRG เห็นว่าการวินิจฉัยเช่นนี้ย่อมขัดแย้งกับความมุ่งหมายที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะการผูกขาดอำนาจนั้นเป็นเรื่องในทางข้อเท็จจริง ไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วงก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ถ้าในความเป็นจริงมีการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานเกินไปแล้ว ก็อาจเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้ทั้งนั้น
ที่มาทุกคนตามกระบวนการของคณะรัฐประหาร รวมทั้ง คสช.
และเมื่อย้อนดูที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พบว่าทั้ง 9 คนล้วนมีที่มาที่ไม่มีหรือแทบไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ภายใต้กระบวนการที่กำหนดโดยคณะรัฐประหารซึ่งรวมถึง คสช. ด้วย
– มาจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ที่ร่างโดยฝ่ายคณะรัฐประหาร คมช.) ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. (ที่ครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหา) จำนวน 2 คน ได้แก่ วรวิทย์ กังศศิเทียม (ประธาน, วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ) และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์
– มาจากการเห็นชอบโดย สนช. ในยุครัฐประหาร คสช. จำนวน 2 คน ได้แก่ ปัญญา อุดชาชน (วินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ) และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
– มาจากกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (ที่ร่างโดยฝ่ายคณะรัฐประหาร คสช.) ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว. (ทั้งหมดผ่านการคัดเลือกโดย คสช.) จำนวน 5 คน ได้แก่ อุดม สิทธิวิรัชธรรม, บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, จิรนิติ หะวานนท์, วิรุฬห์ แสงเทียน (ทั้ง 4 คนแรกวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ) และนภดล เทพพิทักษ์
ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจนักกับผลคำวินิจฉัยครั้งนี้ แม้จะน่าอนาถใจเป็นอย่างยิ่งก็ตาม
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166975471825551
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166975430855551
https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10166975438990551
https://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/download/article/article_20191021103453.pdf