กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และนักเคลื่อนไหว ร่วมกันเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง 5 สถานทูต เพื่อแจ้งถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และย้ำจุดยืนต่อการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ไม่ควรเป็นเวทีสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาด้วยกระบอกปืน

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวได้เดินทางไปยังสถานทูตแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้กับนานาชาติได้รับทราบ และได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ในปี 2563 นั่นคือ

1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและองคาพยพ ต้องลาออก

2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ข้อเรียกร้องเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นข้อเรียกร้องเพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและงบประมาณ ในสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศ

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งจนไม่สามารถที่จะเลี่ยงไม่พูดถึงได้ คือการที่กฎหมายมาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของรัฐในการดำเนินคดีเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPPs) ทำให้นักกิจกรรมทางการเมืองตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐใช้กำลังและความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 526 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตเป็นเยาวชนที่มีอายุเพียง 15 ปีเท่านั้น

มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 217 ราย ใน 236 คดี ซึ่งจำนวนนี้รวมไปถึงเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองด้วย

รัฐบาลเผด็จการใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิพากษาประชาชน ที่ผ่านมา ในการพิพากษาคดีทางการเมืองมักมีความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น มีการปฏิเสธการให้สิทธิการประกันตัวในคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคี มีการบังคับผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองติดอุปกรณ์ติดตาม หรือ EM ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการประกันตัว ศาลมีการปฏิเสธไม่ให้จำเลยใช้หลักฐานของตนเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่มีการพาดพิงในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และมีการปฏิเสธไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ในการสืบพยาน

มากไปกว่านั้น นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง และ NGOs ไม่น้อยกว่า 30 ราย ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน จากการใช้สปายแวร์ในเครื่องมือสื่อสาร และการแอบติดอุปกรณ์ GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อสอดส่องข้อมูลส่วนตัว ดักจับสัญญาณ และติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนในทุกย่างก้าว

ดังนั้น เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะตัวแทนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีการพิจารณาถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมา เพราะเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมความร่วมมือ APEC ไม่ควรเป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน และไม่เคยรับฟังเสียงความต้องการของประชาชน

ด้วยความเคารพและความหวังเป็นอย่างยิ่ง
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
กลุ่มทะลุวัง
กลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย
We Volunteer
โดมปฏิวัติ
เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน
Supporter Thailand (SPT)
กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group (DRG)
กลุ่มทะลุแก๊ส
กลุ่มคณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112)
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)
กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ
กลุ่มนักเรียนเลว
สหภาพคนทำงาน Workers’ Union