การประชุมผู้นำประเทศกลุ่ม APEC ประจำปี 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพได้เสร็จสิ้นไปแล้วเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ หลังจากหมดฤดูกาลของการสร้างภาพลักษณ์ปิดบังการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นตลอดภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ที่สุดท้ายก็ปิดไม่มิดอยู่ดีเมื่อเกิดการสลายการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุดเอเปค 2022 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565) ประเทศไทยก็กลับมาสู่ภาพเดิมๆ ของการเดินหน้าคุกคามประชาชนผู้แสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองอีกครั้ง DRG ขอรวบรวมบางเหตุการณ์ที่โดดเด่นมาดังนี้

“พายุ” ตาขวาบอดสนิทจากกระสุนยาง

พายุ บุญโสภณ หรือพายุ ดาวดิน เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจสาหัสที่สุด โดยถูกปืนยิงกระสุนยางเข้าที่บริเวณดวงตาข้างขวาจนทำให้ลูกตาทั้งลูกแตกละเอียด วุ้นตา เลนส์ตา จอตาเสียหายทั้งหมด แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลตั้งแต่วันสลายการชุมนุมดังกล่าวและพยายามผ่าตัดดวงตา แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เฟซบุ๊คเพจ “ดาวดิน สามัญชน Daodin Commoners” ได้โพสต์แจ้งผลการรักษาจากแพทย์ว่าดวงตาข้างขวาของพายุไม่สามารถมองเห็นได้อีก (ล่าสุด 27 พ.ย. 65 พายุออกจากโรงพยาบาลแล้ว)

พายุ บุญโสภณ หลังถูกยิงกระสุนยางเข้าที่ดวงตา 18 พ.ย. 65 (ภาพ: ประชาไท)

สำนักข่าวประชาไทรายงานว่าพายุได้เล่าย้อนถึงช่วงที่เกิดเหตุการณ์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยิงกระสุนยางใส่ดวงตาว่าเขากำลังวิ่งเข้าไปจะพาผู้ชุมนุมออกมาจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และบอกรถเครื่องเสียงอย่าเพิ่งถอย จังหวะที่หันหน้าเข้าหาเจ้าหน้าที่ก็ถูกยิงกระสุนยางใส่ในระยะใกล้

ก่อนหน้านี้พายุเคยเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมผู้แสดงการต่อต้านรัฐประหาร คสช. จนถูกจับกุมพร้อมกับเพื่อนๆ และถูกศาลทหารสั่งฝากขังเป็นเวลา 12 วันเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2558 หรือที่รู้จักในนาม “14 นักศึกษา”

https://www.facebook.com/daodincommoners/posts/574826354450046
https://prachatai.com/journal/2022/11/101490

จำเลยคดี 112 ถูกพิพากษามีความผิดทั้งหมด 4 คดี 4 คน

การดำเนินคดีการเมืองยังคงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ซึ่งมีการพิพากษาความผิดของนักกิจกรรมและประชาชนทั่วไปเกิดขึ้นถึง 4 กรณี ได้แก่

1. พิทักษ์พงษ์ (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์วิจารณ์กษัตริย์พร้อมแนบภาพบุคคลชูนิ้วกลางหน้ารูปกษัตริย์วชิราลงกรณ์ แจ้งความโดยสุรภพ จันทร์เปล่ง รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ให้มีความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 5 ปี (ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพ) โดยไม่รอการลงโทษ อ้างว่าเพราะจำเลยกระทำความผิดต่อสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย แต่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในวงเงิน 150,000 บาท

2. ธนกร (เพชร, สงวนนามสกุล) เยาวชนนักกิจกรรม LGBTQ+ กรณีปราศรัยในการชุมนุม “ม็อบ 6 ธันวา 63” ที่วงเวียนใหญ่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับบทบาทของกษัตริย์กับการรัฐประหาร แจ้งความโดยจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ให้มีความผิดมาตรา 112 อ้างว่าแม้จำเลยไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์คนใดคนหนึ่ง แต่มาตรา 112 คุ้มครองสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ให้เปลี่ยนเป็นโทษคุมประพฤติและฝึกอบรม ต่อมาได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในวงเงิน 30,000 บาท ทั้งนี้คดีธนกรศาลไม่ให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตุการณ์ โดยอ้างว่าเป็นคดีเยาวชน แม้ว่าธนกรจะแสดงความยินยอมให้ผู้ที่ไว้ใจเข้าร่วมสังเกตุการณ์ได้ก็ตาม

ธนกร (ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

3. จรัส (สงวนนามสกุล) กรณีแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มเฟซบุ๊ก แจ้งความโดยนิรุตต์ แก้วเจริญ ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดจันทบุรีได้พิพากษายกฟ้องความผิดมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการวิจารณ์กษัตริย์ภูมิพลซึ่งไม่ใช่กษัตริย์คนปัจจุบัน จึงขาดองค์ประกอบของมาตรา 112 (แต่กลับไปลงความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ซึ่งไม่อยู้ในคำฟ้องของโจทก์) ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 กลับให้มีความผิดมาตรา 112 อ้างว่าการหมิ่นอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบถึงกษัตริย์คนปัจจุบันด้วย ลงโทษจำคุก 2 ปี (ลดลง 1 ใน 3 เพราะขณะกระทำเป็นผู้เยาว์ และลดโทษลงอีกเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือ 1 ปี 4 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี) คำพิพากษาลงนามโดย ประทีป เหมือนเตย, วัชรี พูลเกษม และวงศ์สถิตย์ แสงสุก

4. ปณิธาน (สงวนนามสกุล) กรณีแสดงความคิดเห็นในโพสต์ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พร้อมแนบภาพกษัตริย์วชิราลงกรณ์ ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ให้มีความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี (ลดกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี เพราะรับสารภาพ) โดยไม่รอการลงโทษ อ้างว่าเพราะจำเลยทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง แต่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในวงเงิน 100,000 บาท

https://tlhr2014.com/archives/50809
https://tlhr2014.com/archives/50825
https://tlhr2014.com/archives/50860
https://tlhr2014.com/archives/50908

ศาล/“นักร้อง” เดินหน้าหาเรื่องถอนประกันตัว

การชุมนุมทางการเมืองในช่วงการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา มีนักกิจกรรมบางคนที่ได้รับการประกันตัวจากศาล หรือเคยถูกสั่งขังระหว่างดำเนินคดีแต่ต่อมาได้รับการประกันตัว เข้าร่วมการชุมนุมด้วย คนเหล่านี้จึงตกเป็นเป้าหมายของความพยายามให้มีการถอนการประกันตัวอีกครั้ง

23 พฤศจิกายน 2565 โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเคยถูกศาลสั่งขังโดยไม่ให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 เป็นเวลา 30 วัน ได้รับแจ้งจากศาลอาญาว่าจะมีนัดไต่สวนถอนการประกันตัวในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 โดยคาดว่าเกิดจากการที่โสภณเข้าร่วมการชุมนุม “What Happened in Thailand” ที่แยกอโศกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นอกจากกรณีของโสภณที่ศาลแจ้งนัดไต่สวนถอนประกันตัวมาแล้ว ยังมีกรณีที่กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว เดินทางไปยื่นหนังสือที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เรียกร้องให้ถอนประกันตัวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์), ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน), ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ) และเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง) โดยอ้างว่าทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว เพราะรัฐบาลได้ประกาศไม่ให้มีการชุมนุม แต่ก็ยังมีการชุมนุมสร้างความวุ่นวาย และหลังจากนี้จะยื่นขอให้ถอนประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ได้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ทานตะวันเคยถูกศาลสั่งคุมขังและอดอาหารประท้วงในเรือนจำเป็นเวลา 37 วัน ส่วนณัฐนิชและเนติพรเคยถูกคุมขัง 94 วัน และอดอาหารประท้วง 64 วัน

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ในการชุมนุม “What Happened in Thailand” ที่แยกอโศก 17 พ.ย. 65

DRG เห็นว่าการร่วมชุมนุมของนักกิจกรรมตามที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่เป็นการชุมนุมอย่างสันติที่ไม่ได้สร้างความเดือดต่อบุคคลอื่นอย่างเกินสมควร ในขณะที่การปะทะกันที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ชุมนุมไม่ได้มีเจตนาให้เกิดเหนุการณ์เช่นนั้นตั้งแต่ต้น หากแต่เป็นผลจากการเริ่มสลายการชุมนุมโดยการใช้กำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่ทั้งที่ไม่มีเหตุอันควรเลยแม้แต่น้อย การเข้าร่วมการชุมนุมของนักกิจกรรมเหล่านี้จึงไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างในการถอนการประกันตัวของนักกิจกรรมคนใดทั้งสิ้น

https://twitter.com/TLHR2014/status/1595354460163043330
https://www.thereporters.co/tw-politics/2511221543/

ตามจับ-ไม่ให้ประกัน “จินนี่” หลังมีปากเสียงกับ ศปปส. ใช้หมายจับเก่าข้อหาดูหมิ่นศาล

ในเหตุการณ์เดียวกันกับที่กลุ่ม ศปปส. ไปยื่นหนังสือที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ถอนประกันตัวนักกิจกรรมนั้นเอง มีมวลชนอีกฝ่ายหนึ่งมาถ่ายทอดสดเหตุการณ์ด้วย และเกิดการปะทะกันทางวาจา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาห้ามปราม ทว่าในเวลาต่อมา มีรายงานว่าจิรัชยา สกุลทอง (จินนี่) หนึ่งในผู้ที่มีปากเสียงกับ ศปปส. ได้ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สน.ยานนาวา 8 นาย โดยอ้างหมายจับที่ออกโดยศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ในข้อหาดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี, หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีปราศรัยวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง

จิรัชยา สกุลทอง (ภาพ: ข่าวสด)

เมื่อจับกุมแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวจิรัชยาไว้ที่ สน. 1 คืน และวันต่อมา (26 พฤศจิกายน 2565) ได้ยื่นขอศาลฝากขังและคัดค้านการประกันตัว ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นการใช้กฎหมู่ให้อยู่เหนือกฎหมายในเรื่องการพิจารณาของศาล กระทำการโดยไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง หากปล่อยตัวไปเกรงว่าจะไปก่อภัยอันตราย ลงนามโดย ไพบูลย์ ทองน่วม รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ นับเป็นอีกครั้งที่ศาลสั่งคุมขังผู้ที่ออกมาวิจารณ์ศาลเอง

https://www.matichon.co.th/politics/news_3693934
https://tlhr2014.com/archives/50943