แถลงการณ์กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG)
เรื่อง ขอให้รัฐบาลเลิกตระบัดสัตย์ต่อประชาชน และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยได้ให้ไว้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ว่าจะแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรม อ.จะนะ จ.สงขลา โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ได้สัญญาไว้ จึงได้มาตั้งหมู่บ้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อชุมนุมระยะยาวจนกว่ารัฐบาลจะนำข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ไปออกเป็นคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือเป็นมติคณะรัฐมนตรี

1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ เช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสํารวจ ออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย

2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แบบมีส่วนร่วมและต้องดําเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกํากับของ ศอ.บต.

3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดําเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดําเนินการตามข้อ 1. และข้อ 2. จะแล้วเสร็จ

ปรากฎว่าในคืนวันเดียวกัน ประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ชุมนุมอยู่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายเข้าสลายการชุมนุม โดยจับกุมตัวผู้ชุมนุมไปเป็นจำนวน 37 คน ประกอบด้วยชาย 6 คน หญิง 31 คน อายุมากที่สุดคือหญิงวัย 70 ปี และอายุน้อยที่สุดคือหญิงวัย 18 ปี และถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ขอประณามการตระบัดสัตย์และการสลายการชุมนุมในครั้งนี้ของรัฐบาล ที่แสดงให้เห็นว่าถ้อยคำที่กล่าวว่า “ไม่มีสัจจะในหมู่โจร” นั้นเป็นเช่นไร ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพียงมาทวงสัญญาที่รัฐบาลเองเคยได้ให้ไว้ โดยไม่มีท่าทีว่าจะก่อภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อปกปักรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนของพวกเขา แต่สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญกลับเป็นการใช้กำลังควบคุมตัวและยัดคดี นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกีดกันสื่อไม่ให้นำเสนอข่าวขณะสลายการชุมนุม เช่น ตั้งแนวขวางไม่ให้เข้าใกล้ที่ชุมนุม ใช่ไฟฉายแรงสูงสาดใส่กล้องของสื่อ แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันชัดแจ้งที่จะปกปิดการกระทำอันเลวร้ายของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมตัวทั้ง 37 คนทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข

2. รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 3 ข้อข้างต้น โดยออกเป็นคําสั่งนายกรัฐมนตรีหรือเป็นมติคณะรัฐมนตรี

3. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องยุติการขัดขวางไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม ทั้งของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และของประชาชนกลุ่มอื่นๆ

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group – DRG)
7 ธันวาคม 2564