จากกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตของ “ช่อ – พรรณิการ์ วานิช” สาเหตุจากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในปี 2556 – 2557 ว่าขัดต่อจริยธรรมร้ายแรงจนกลายเป็นประเด็นพูดถึง และถกเถียงในสังคม ทั้งที่ในกรณีเดียวกันนี้พรรณิการ์ก็ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแจ้งความไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) ซึ่งในส่วนคดีนี้ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามความผิด พ.ร.บ.คอมฯ ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่ใช่การทำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่จะก่อความเสียหายหรือตื่นตระหนกต่อสังคมแต่อย่างใด
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตจากเหตุละเมิดจริยธรรมร้ายแรง เพราะก่อนหน้านี้มีนักการเมืองที่ต้องโทษตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต เช่น
- ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ ผิดจริยธรรมร้ายแรงฐานครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบ
- กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต สส.พรรคภูมิใจไทยมีผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีฐานครอบครองที่ดินเขาใหญ่
- ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ อดีต สส. พรรคพลังประชารัฐ ผิดจริยธรรมร้ายแรงกรณีเสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภา ผิดจริยธรรมร้ายแรง
สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากมีการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมและกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขึ้นมาบังคับใช้ โดยถูกประกาศใช้เมื่อ 30 มกราคม 2561 โดยมีชื่อว่า มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 โดยมีการกำหนดว่าการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 1 นั้นมีความร้ายแรง ซึ่งตามหมวด 1 นั้นระบุว่า
- ข้อ 5 ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ข้อ 6 ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน
- ข้อ 7 ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
- ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
- ข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่
- ข้อ 10 ต้องไม่รับของขวัญของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการรับจากการให้โดยธรรมจรรยา และการรับที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับให้รับไว้
นอกจากนี้ การฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมในหมวด 2 และ 3 นั้น จะมีความร้ายแรงหรือไม่ ให้พิจารณาถึงพฤติกรรมของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนาและความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัตินั้น และรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจแห่งชาติ (ปปช.) มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และหากมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงจริง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และหากศาลฎีกามีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดจริง ให้เพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง และสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดไป และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้
ในกรณีของพรรณิการ์ นอกจากประเด็นการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตแล้ว ยังมีประเด็นสาเหตุจากการตัดสิทธิที่อาจจะกระทบไปถึงข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย เนื่องจากศาลมองว่าการโพสต์ของพรรณิการ์เป็นการกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรง ทั้งที่เป็นโพสต์ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนนั้น และเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นอกจากนี้ ในขณะที่โพสต์นั้น พรรณิการ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ด้วย แต่ศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากพรรณิการ์
และเนื่องจากโพสต์นั้นถูกตีความว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ จึงอาจเป็นไปได้ว่าจากกรณีนี้จะถือเป็นการตีความไปยังกรณีอื่น ๆ ที่อาจมีการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง เพื่อปิดปากไม่ให้แสดงออกหรือแสดงความเห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการพยายามปิดประตูในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไปในทางหนึ่งด้วย
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน มีประชาชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และประสบปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชน การอภิปรายในสภาจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสะท้อนความคิดของผู้คนในสังคม แต่การพิพากษาของศาลฎีกาต่อกรณีของพรรณิการ์นั้นกลับสร้างผลกระทบให้ไม่เว้นแม้แต่สภาที่อาจไม่สามารถอภิปรายถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้เช่นกัน และยังนับว่าเป็นการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการที่ตัดสินในนามพระปรมาภิไธยในการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งแตกร้าวระหว่างสถาบันกษัตริย์ และประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก คล้ายกับว่าตัวแทนของสถาบันกษัตริย์นั้นมีอำนาจอยู่เหนือตัวแทนประชาชน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะเรียกระบอบการปกครองนี้ว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ?
อ่านเพิ่มเติม
- ศาลอาญา ยกฟ้อง ‘ช่อ พรรณิการ์’ ปมพาดพิงสถาบันฯ พร้อมเผยร่างคำพิพากษาอธิบาย https://workpointtoday.com/pol-pannika/
- ย้อนดู 4 นักการเมืองหญิง ถูกถอนสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต ด้วยคดีอะไรบ้าง https://www.sanook.com/news/9030622/
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลฎีกา คดี ‘ช่อ’ ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง https://www.bangkokbiznews.com/politics/1089515
- “ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” เครื่องมือสอยนักการเมืองจากรัฐธรรมนูญ’60 https://www.ilaw.or.th/node/6650