28 มีนาคม 2566 เกิดเหตุการณ์ที่ “บังเอิญ” (นามสมมติ) ชายอายุ 25 ปี เข้าไปพ่นสีสเปรย์บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เป็นข้อความแสดงจุดยืนสนับสนุนการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และสัญลักษณ์แนวคิดอนาธิปไตย (Anarchism) และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังจับกดหัวลงกับพื้นจนได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะควบคุมตัวไปโดยไม่ให้ทนายความเข้าพบเป็นเวลาหลายชั่วโมง และท้ายสุดตำรวจได้แจ้งข้อหาทำให้เสียหายหรือทำให้เสื่อมค่าซึ่งโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ศ. 2504 มาตรา 32 และพ่นสีที่กำแพงที่ติดกับถนน ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 12 (ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มักถูกใช้เป็น “กฎหมายสำรอง” เพื่อดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่แสดงออกทางการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ ในยามที่ผู้มีอำนาจไม่ต้องการใช้กฎหมายที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดี เช่น มาตรา 112, มาตรา 116 ในขณะที่ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นการพ่นสีดังกล่าวสามารถทำความสะอาดได้โดยง่าย)
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ “หยก” เยาวชนอายุ 14 ปี ที่เดินทางไปติดตามความเป็นไปของบังเอิญที่ สน.พระราชวัง ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวโดยอ้างหมายจับคดีมาตรา 112 ก่อนหน้านี้ รวมถึงกรณีของสื่อมวลชนที่ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบตามคุกคามให้ลบภาพการพ่นสีของบังเอิญด้วย
พระบรมมหาราชวังนั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นที่ประทับและประกอบพิธีการของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ แต่ก็มีส่วนที่เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมสถานที่ภายในได้ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หรือลานด้านหน้าพระที่นั่งต่างๆ
ทั้งนี้ในอดีตตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระบรมมหาราชวังจัดเป็น “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” มีนิยามความหมายว่า “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยฉะเพาะ เช่น พระราชวัง” โดยมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้ทรัพย์สินประเภทดังกล่าวอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมใดๆ แต่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าพระบรมมหาราชวังนั้นแม้ถือเป็น “ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์” แต่ก็มีสถานะเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” ที่จะต้องใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน มิใช่ประโยชน์ส่วนตัวของกษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์ โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาก็เป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับประมุขฝ่ายบริหารที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มิใช่กษัตริย์ที่สืบทอดตำแหน่งทางสายเลือด
ทว่าทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อมีการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ในยุครัฐประหาร คสช. (และตามมาหลังจากนั้นด้วย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561) มีมาตรา 10 วรรค 2 กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ตาม พ.ร.บ. นี้
โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ตาม พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 (ซึ่งเปลี่ยนคำเรียกเป็น “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”) มาตรา 6 กำหนดให้การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการอื่นใด ให้เป็นไป “ตามพระราชอัธยาศัย” (โดยอาจมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บุคคลใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้จัดการแทนได้)
มากไปกว่านั้น ในมาตรา 8 วรรค 5 ยังกำหนดว่ารายได้จากทรัพย์สินเหล่านี้ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (ซึ่งก็เป็นหน่วยงาน “ในพระมหากษัตริย์” มีหน้าที่ดำเนินการตามที่กษัตริย์มอบหมาย โดยตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิมยังมีการกำกับดูและโดยคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน) นำไปจ่ายหรือลงทุนได้ตามที่กษัตริย์อนุญาต ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยกษัตริย์ตามราชอัธยาศัย
นอกจากนี้สำนักพระราชวังที่เคยเป็นผู้ดูแลรักษาพระราชวังตาม พ.ร.บ. ฉบับเดิม ก็มี พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน และเงินงบประมาณของหน่วยงานดังกล่าวไปเป็นของส่วนราชการในพระองค์ และให้โอนข้าราชการประจำหน่วยงานไปเป็นข้าราชการในพระองค์ด้วยเช่นกัน
เท่ากับว่าปัจจุบันนี้ทั้งพระบรมมหาราชวัง ทั้งพระราชวังอื่นๆ รวมไปถึงที่ดิน, หุ้น และทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวนมาก ได้กลายไปเป็นทรัพย์สินที่กษัตริย์สามารถใช้สอยได้เองตามอัธยาศัยไปแล้ว ไม่อาจเรียกว่าเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทุกคนในประเทศถือเป็นเจ้าของร่วมกันได้อีกต่อไป มูลค่าต่างๆ ที่ทรัพย์สินเหล่านี้สร้างขึ้นก็ตกเป็นความมั่งคั่งส่วนตัวของกษัตริย์เท่านั้น ส่วนหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ไม่ว่าจะเป็นสำนักพระราชวัง หรือสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ก็ถูกตัดขาดความยึดโยงกับประชาชน ไปอยู่ใต้กษัตริย์โดยสมบูรณ์ (ในขณะที่การซ่อมบำรุงทรัพย์สินเหล่านี้ รวมถึงโครงการที่สร้างขึ้นใหม่อีกมากมาย ก็ยังต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนกันต่อไป)
การออกแบบระบบกฎหมายและโครงสร้างการเมืองเช่นนี้ ส่งผลให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นเสมือนนายทุนและเจ้าที่ดิน ที่สามารถสั่งสมอำนาจและอิทธิพลต่างๆ ของตัวเองได้ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยที่ผู้ใช้อำนาจต้องยึดโยงกับประชาชน สถาบันกษัตริย์มิพึงเป็นศูนย์รวมอำนาจเสียเอง
แต่ในประเทศไทย เมื่อประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่พวกเขาต้องเจอคือการถูกปิดปากด้วยกฎหมายอย่างมาตรา 112 นี่จึงเป็นเหตุที่มีผู้ออกมาพ่นสีสเปรย์เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกมาตราดังกล่าว
https://prachatai.com/journal/2023/03/103385
https://twitter.com/TLHR2014/status/1640668605980508165