ในช่วงเวลาที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิค (APEC) ใกล้เข้ามาทุกที เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่ตามนัยมาตรา 8 (5) แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีเนื้อหาอ้างถึงมาตราดังกล่าวของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ว่าการชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่บางประเภท ซึ่งรวมถึงสถานที่อื่นใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จึงมีการออกประกาศนี้มาเพื่อกำหนดให้สถานที่จัดการประชุม APEC ได้แก่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, โรงแรม 19 แห่งที่เป็นที่พำนักผู้แทนประเทศต่างๆ และถนนบริเวณอาณาโดยรอบสถานที่เหล่านี้ให้เป็นสถานที่ตามนัยแห่งมาตรานี้ ตั้งแต่วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กำหนดหลักเกณฑ์และพื้นที่ถนนและบริเวณอาณาโดยรอบของสถานที่ตามประกาศ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้

เป็นธรรมดาที่การประชุมใหญ่ของผู้นำจากนานาชาติจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพก็ต้องการใช้เวทีนี้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเอง นำมากลบปัญหาการใช้อำนาจของตัวเองที่ละเมิดสิทธิลิดรอนเสรีภาพหรือสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในประเทศ ในขณะเดียวกันภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็หวังใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารออกไปให้โลกได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจต่อมาจากระบอบรัฐประหารรวมเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี เช่นกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC2022” ที่ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยกเลิกนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ในเบื้องหลังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนผูกขาดทรัพยากรและเบียดเบียนประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย พร้อมทั้งประกาศว่าจะมีการเคลื่อนไหวตู่ขนานกับการประชุม APEC เพื่อผลักดันข้อเรียกร้องอย่างถึงที่สุด หรือกลุ่มภาคประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และนักเคลื่อนไหวที่ประกาศจัดกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนไปยังศูนย์ประชุมสิริกิติ์เพื่อยื่นจดหมายถึงผู้นำ APEC บอกเล่าว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กระทำอะไรไว้กับคนไทย ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

DRG ขอร่วมยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง แม้กระทั่งในระหว่างการประชุม APEC ก็ตาม โดยตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8 ที่ถูกอ้างมาออกประกาศกำหนดสถานที่ข้างต้นนั้น บัญญัติไว้เพียงว่าการชุมนุมจะต้อง “ไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่” เท่านั้น ซึ่งไม่เท่ากับการห้ามไม่ให้ชุมนุมบริเวณสถานที่เหล่านั้นเด็ดขาด เช่นว่าหากการชุมนุมไม่ได้ทำให้ขบวนเดินทางของผู้นำประเทศต่างๆ เข้าสู่ศูนย์ประชุมฯ ไม่ได้ หรือไม่ได้ทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ต้องยกเลิกไปแล้ว ประชาชนก็ย่อมสามารถชุมนุมที่บริเวณศูนย์ประชุมได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริงปรากฏว่าทาง สตช. ได้ออกมาประกาศงดใช้เส้นทางถนนหลายสายในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 – 19 พฤษจิกายน 2565 ซึ่งรวมถึงถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกอโศกมนตรีจนถึงแยกพระราม 4 เป็นระยะทางเกือบ 2 กิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นมาตรการที่เกินเลยไปกว่าแค่เพื่อกำกับดูแลไม่ให้มีการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้สถานที่ตามที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วมีจุดประสงค์ต้องการยับยั้งไม่ให้เกิดภาพที่ผู้คัดค้านรัฐบาลสามารถเข้าใกล้บริเวณศูนย์ประชุมสิริกิติ์จนกลายเป็นการฉีกหน้ารัฐบาลเองได้

ศูนย์ทนายฯ ผุดแฮชแท็ก #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 #KeepAnEyeOnAPEC2022 ชวนร่วมจับตาการคุกคามประชาชน

และนอกจากภาคประชาชนที่ประกาศตัวจะจัดการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC แล้ว อีกหนึ่งองค์กรภาคประชาสังคมอย่างศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ยังได้โพสต์เชิญชวนให้ร่วมบอกเล่าเรื่องราว และจับตาการคุกคามประชาชนในช่วงระหว่างการประชุม เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการใช้ Hashtag #จับตาละเมิดสิทธิAPEC2022 และ #KeepAnEyeOnAPEC2022 ประกอบการรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น

ภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

https://prachatai.com/journal/2022/11/101368
https://prachatai.com/journal/2022/11/101353
https://www.facebook.com/democracyrestoration/posts/5423668141095992
https://workpointtoday.com/apec2022-2/
https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/5561656950550780