ภูมิพลอดุลยเดช อดีตกษัตริย์ไทยที่เสียชีวิตในวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นผู้ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการรับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งในรัชสมัยของตน ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายอย่างยืดยาวอีกแล้วว่าสถาบันกษัตริย์ไทยนั้นไม่ได้อยู่ในฐานะที่ “จำยอม” จะต้องรับรองการรัฐประหารใดๆ ที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วสถาบันกษัตริย์มีอำนาจและอิทธิพลถึงขนาดที่ทำให้การรัฐประหารล้มเหลวได้ ดังตัวอย่างกรณีกบฏยังเติร์ก/เมษาฮาวาย ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524 ที่แม้ฝ่ายผู้ก่อการจะระดมกำลังมามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่เมื่อสถาบันกษัตริย์ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยไม่ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นถูกควบคุมตัวได้แล้ว ท้ายสุดผู้ก่อการก็ต้องประสบกับความพ่ายแพ้

และแน่นอนว่าการรับรองการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้น ก็รวมถึงการรับรองรัฐประหารครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยเช่นกัน โดยภูมิพลได้มีราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าผู้ก่อการ เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หรือเพียง 2 วันหลังการรัฐประหาร รวมถึงมีราชโองการแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบรัฐประหารของตัวเอง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับสนองราชโองการจากกษัตริย์ภูมิพล แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 (สำนักข่าวอิศรา)

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คสช. และรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น คือมรดกชิ้นท้ายๆ ที่ภูมิพลได้ทิ้งเอาไว้ให้กับประเทศไทยก่อนที่ตัวเองจะเสียชีวิตลง ที่ซึ่งต่อมามรดกชิ้นนี้ก็ได้สืบทอดอำนาจตัวเองจนอยู่ค้ำหัวคนไทยมาแล้วกว่า 7 ปี ทุกวันนี้ประชาชนก็น่าจะได้รู้เช่นเห็นชาติกันแล้วว่าประสิทธิภาพ ความโปร่งใส ความจริงใจ และความสำนึกของนายกรัฐมนตรีคนนี้และพวกพ้องนั้นเป็นเช่นไร

คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่ทำให้เห็นแล้วว่าสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์นั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไร หากในวันรัฐประหารนั้น สถาบันได้ถูกปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย ให้ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจได้ หรือหากในวันนั้นภูมิพลจะตระหนักบ้างว่าตัวเองไม่ควรไปให้การรับรองการทำลายระบอบประชาธิปไตยอีกแล้ว เราอาจไม่ต้องทนอยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างในทุกวันนี้ก็ได้

คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นมรดกชิ้นท้ายๆ แล้วของภูมิพล แต่มรดกชิ้นสุดท้ายจริงๆ ที่ภูมิพลทิ้งไว้ให้ แม้จะได้กำหนดไว้นานแล้ว แต่ก็ได้บังเกิดผลขึ้นจริง ณ วันที่ภูมิพลสิ้นอายุขัยไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 นั่นคือการส่งไม้ต่อของความเป็นกษัตริย์ให้กับวชิราลงกรณ์ ลูกชายของตัวเอง โดยที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับการฝึกสอนไว้ด้วยว่ากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นควรเป็นเช่นไร ซึ่ง DRG เชื่อว่าประชาชนชาวไทยคงมีคำตอบในใจแล้วว่าคิดเห็นอย่างไรกับมรดกชิ้นนี้

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/082/1.PDF
https://www.isranews.org/isranews-scoop/29784-prayut2.html
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/159/1.PDF