เนื่องในโอกาสวันกรรมกรสากล (International Workers’ Day) 1 พฤษภาคม ในปีนี้ DRG ขอกล่าวถึงประเด็นว่าด้วยแรงงานกับเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

เราลองมาดูตัวอย่างเหตุการณ์ต่อไปนี้

1. 14 ธันวาคม 2562 มีการชุมนุมแฟลชม็อบ “ไม่ถอยไม่ทน” ที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและ skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีการนัดหมายขึ้นภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีกู้ยืมเงินจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น ในระหว่างการชุมนุมมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งชูป้ายข้อความว่า “FUCK U DICTATORSHIP” และถ่ายรูปนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ซึ่งปรากฏว่าในรูปชูป้ายดังกล่าวนั้นมีภาพของภูมิพล อดีตกษัตริย์ไทยอยู่เป็นฉากหลัง ส่งผลให้ผู้ชูป้ายดังกล่าวถูกนำข้อมูลส่วนตัว ซึ่งรวมถึงอาชีพและต้นสังกัดไปเผยแพร่เพื่อล่าแม่มด ซึ่งหนึ่งในผู้กระทำการดังกล่าวได้แก่ ม.จ.จุลเจิม ยุคล ราชนิกูลผู้ฝักใฝ่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และในเวลาต่อมา บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด ต้นสังกัดที่ทำงานของผู้ชูป้ายดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาระบุว่าบริษัทมีความเคารพและเชิดชูในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด รู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่อดีตพนักงานของบริษัทกระทำการในลักษณะที่มิบังควร และอ้างว่าอดีตพนักงานผู้ชูป้ายดังกล่าว “ได้ขอลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยความสมัครใจ และเพื่อเป็นการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์รูปภาพดังกล่าวและคนสนิทที่พ้นสภาพพนักงานของต้นสังกัดของตัวเองคือ echo (ซึ่งอ้างในแถลงการณ์ว่าเจ้าตัวเสนอขอลาออกเองไม่ได้มีการหว่านล้อมหรือกดดันให้ลาออกจากทางองค์กร)

ภาพชูป้าย “FUCK U DICTATORSHIP” ในการชุมนุมไม่ถอยไม่ทน 14 ธ.ค. 62
แถลงการของโมโนฯ
แถลงการณ์ของ echo

2. 17 ตุลาคม 2563 พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน โพสต์เฟซบุ๊คประกาศไล่ศัลแพทย์ทรวงอกหญิงคนหนึ่งออกจากการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล จากการที่แพทย์คนดังกล่าวได้ร่วมลงชื่อเป็น 1 ใน 386 แพทย์ที่คัดค้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุมเมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่บริเวณแยกปทุมวัน โดยอ้างว่า รพ.มงกุฎวัฒนะมีนโยบายชัดเจนไม่รับผู้ร่วมงานที่เป็นแนวร่วมขบวนการอริราชศัตรู ทั้งนี้ พล.ต.เหรียญทองยังเคยมีกรณีเกี่ยวกับการไล่ออกแพทย์และพนักงานโรงพยาบาลรายอื่น เช่น กรณีการไล่พนักงานเปลออกจาก รพ.มงกุฎวัฒนะโดยไม่มีการชดเชยเงินเลิกจ้างเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 จากการฉีกธนบัตรที่มีรูปกษัตริย์ อ้างว่าเป็นความประพฤติที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์สังคมและนำมาซึ่งความโกรธแค้น ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบภายในองค์กร ถือเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือกรณีการโพสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 กดดันให้โรงพยาบาลต้นสังกัดของนายแพทย์คนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลบหลู่กษัตริย์ภูมิพลให้เลิกจ้างแพทย์คนดังกล่าว ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลต้นสังกัดทั้ง 2 แห่งได้แก่ รพ.จอมเทียน และ รพ.กรุงเทพระยองได้ประกาศไล่แพทย์คนดังกล่าวออก

โพสต์ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ประกาศไล่ออกแพทย์ รพ.มงกุฎวัฒนะ

3. 18 กรกฎาคม 2564 ในการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน มีการถ่ายคลิปผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์คันหนึ่งที่มีสัญลักษณ์ของ Foodpanda ผู้ให้บริการส่งอาหารชื่อดัง แล้วโพสต์ทวิตเตอร์กล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุเผารูปกษัตริย์ ปรากฏว่าต่อมาบัญชีทวิตเตอร์ทางการของ Foodpanda ได้ตอบกลับว่าหากพบว่าผู้ขับจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นพนักงานที่ยังคงทำงานอยู่จริง ทางบริษัทจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาด โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที พร้อมทั้งระบุว่าบริษัทมีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นการใช้คำว่า “การก่อการร้าย” และ “คนร้าย” จนเกิดเป็น hashtag #แบนfoodpanda ทำให้ต่อมาทาง Foodpanda ต้องออกมาโพสต์ขออภัยสำหรับข้อความจากทีมงานที่โพสต์ก่อนหน้าที่ไม่ได้ตัดสินอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงยืนยันว่าการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีไม่ใช่การก่อการร้าย และจะไม่มีการดำเนินการให้พนักงานพ้นสภาพไรเดอร์ของบริษัท

ภาพผู้ขับจักรยานยนต์ที่ถูกกล่าวหา
การตอบกลับของ Foodpanda
แถลงการณ์ขออภัยของ Foodpanda

ทั้ง 3 เหตุการณ์สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานที่ถูกคุกคามการใช้ชีวิตในทางส่วนตัว ซึ่งในที่นี้รวมไปถึงการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ปัจเจกบุคคลพึงกระทำได้อย่างเป็นอิสระโดยปราศจากการบงการ ครอบงำ หรือกดดันจากต้นสังกัดที่ตนทำงานด้วย ทว่าในประเทศไทยมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะกับผู้เห็นต่างที่แสดงออกในทางตรงข้ามกับฝ่ายผู้มีอำนาจ ซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยนั้น มักหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกคุกคามในด้านต่างๆ ตั้งแต่การใช้กำลังหรืออาวุธประทุษร้าย การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมาดำเนินคดี นำตัวไปคุมขังให้เสียอิสรภาพ หรือแม้กระทั่งในการดำรงชีพในฐานะผู้ใช้แรงงาน ก็ยังต้องรับผลร้ายจากนายจ้างหลายๆ แห่ง ที่หากไม่เป็นนายจ้างเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายผู้มีอำนาจ ไม่เห็นหัวฝ่ายประชาชนหรือลูกจ้างแล้ว ก็เป็นนายจ้างที่กลัวตัวเองจะได้รับผลกระทบหรือเสียผลประโยชน์จากการขัดแข้งขัดขาผู้มีอำนาจนั่นเอง

นอกจากนี้เหตุการณ์ที่ยกมายังแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าสภาพสังคมปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยที่ “แรงงาน” มีความหมายแคบๆ แค่กรรมกรที่ทำงานในไร่สวนหรือโรงงาน แม้ว่าทุกวันนี้ลูกจ้างหลายๆ คน หลายๆ ภาคส่วนจะเป็นผู้มีการศึกษาและทักษะสูง (เช่น แพทย์) หรือแม้ว่าคำนิยามผู้ประกอบกิจกรรมในระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนอาจไม่ได้มีแค่คำว่า “ลูกจ้าง” ในความหมายของการจ้างงานดั้งเดิมแล้ว (เช่นมี “พาร์ทเนอร์” หรือ “ฟรีแลนซ์” ฯลฯ ถือกำเนิดเพิ่มขึ้นมาด้วย) แต่คงปฏิเสธได้ยากว่าในความสัมพันธ์ของการทำงาน ฝ่ายที่ถือ “ทุน” ก็ยังคงเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่าในการกำหนดหรือส่งแรงกดดันมายังอีกฝ่าย (ที่ในที่นี้ขอใช้คำเรียกรวมๆ ว่าเป็น “แรงงาน”) ให้ต้องระมัดระวังตัวเองเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในหน้าที่การงาน ซึ่งรวมถึงอาจต้องยอมลดทอนเสรีภาพของตัวเองในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย

ทั้งนี้ในประเด็นเกี่ยวกับการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผู้เป็นลูกจ้าง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เขียนบทความชื่อ “ทำยังไงดี ถูกบริษัทไล่ออกเพราะไปม็อบ” อธิบายว่าบุคคลทุกคนรวมถึงลูกจ้างล้วนมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ดังนั้นหากได้ปฏิบัติตามสัญญาและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานถูกต้องแล้ว เช่น ไปร่วมชุมนุมนอกเวลาทำงาน ไปร่วมชุมนุมในวันหยุดประจำสัปดาห์ หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี (วันลาพักร้อน) ที่ได้ลาไว้ถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว นายจ้างจะก้าวล่วงสิทธิในเสรีภาพดังกล่าวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำวิธีรับมือในกรณีที่นายจ้างบังคับหรือกดดันต่างๆ เช่น การทำหนังสือคัดค้านการลงโทษของนายจ้าง, การต่อสู้ว่าข้อสัญญาหรือข้อบังคับเอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควร, การปฏิเสธไม่เขียนใบลาออกตามที่นายจ้างกดดัน การเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง เป็นต้น รายละเอียดสามารถอ่านได้ ที่นี่

สุดท้ายนี้หากเรายืนยันว่าการที่ประเทศชาติก่อร่างสร้างบ้านเมืองขึ้นมาได้นั้น ผู้ที่มีคุณูปการสูงสุดหาใช่กษัตริย์หรือชนชั้นนำที่ประทับอยู่บนบัลลังก์ หากแต่เป็นประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่มาร่วมกันทุ่มกายทุ่มใจในฐานะของ “แรงงาน” แล้ว พวกเขาเหล่านี้ก็ควรได้มีสิทธิกำหนดชะตาของตัวเอง กำหนดอนาคตของประเทศผ่านการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยไม่ถูกกดทับจากผู้มีอำนาจใดๆ รวมทั้งเหล่านายทุนนายจ้างด้วย

https://prachatai.com/journal/2019/12/85569
https://www.facebook.com/fookingecho/posts/334905864673723
https://www.thairath.co.th/news/politic/1955581
https://prachatai.com/journal/2018/11/79723
https://www.matichon.co.th/social/news_2517915
https://hilight.kapook.com/view/214894
https://www.matichon.co.th/economy/news_2836933
https://www.bangkokbiznews.com/business/949809